กิน "ปลาร้า" ระวังปลาปักเป้า

       พูดถึง "ปลาร้า" ขึ้นมา หลายคนเริ่มออกอาการเปรี้ยวปากอยากกินส้มตำปูปลาร้าขึ้นมากันเป็นแถบๆ แต่บางคนก็ทำหน้าเบ้ ด้วยรสชาติหรือกลิ่นของปลาร้านั้นไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจเท่าไรนัก แต่ปลาร้านี้ถือเป็นอาหารที่เป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานเลยทีเดียว และเชื่อกันว่าเป็นอาหารที่มีมานานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว เพราะมีการขุดพบวัสดุที่คล้ายกับไหหมักปลาร้า
      
       ปลาร้านั้นถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีการนำเอาปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาเนื้ออ่อน ฯลฯ มาหมักกับเกลือ และรำข้าว มาหมักไว้ในไหนาน 6เดือน-1 ปี กว่าจะออกมาเป็นปลาร้าให้เราได้กินกัน แต่เป็นจะเป็นของหมักดอง แต่ปลาร้าก็มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย โดยในเนื้อปลาร้า 100 กรัม จะมีคาร์โบไฮเดรต 1.75 กรัม ไขมัน 6.0 กรัม โปรตีน 14.15 กรัม และวิตามินต่างๆ อยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่มากถึง 935.55 และ 648.2 มิลลิกรัม
      
       แต่มาสมัยนี้ การกินปลาร้าเริ่มให้โทษ เพราะมีผู้ผลิตปลาร้าที่ทำมาจากปลาปักเป้าน้ำ จืดซึ่งเป็นปลามีพิษออกมาวางขาย และหากใครกินเข้าไป ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ขาชา ลิ้นชา และท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ้ากินเข้าไปมากก็อันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
      
       ดังนั้นสำหรับคนที่จะเลือกซื้อปลาร้าไปทำอาหารกินที่บ้าน ก็มีวิธีแนะนำให้ซื้อปลาร้าที่เป็นปลาชนิดเดียวกัน ไม่ควรซื้อปลาร้าที่เป็นชนิดปลารวมหลายๆ ชนิด เพราะเราไม่รู้ว่ามีปลาปักเป้ามาปนด้วยหรือเปล่า และควรซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ มีไบรับรองจากโรงงานถูกต้อง แต่สำหรับคนที่จะต้องกินอาหารที่มีส่วนผสมของปลาร้าตามร้าน งานนี้ต้องวัดดวงกัน แต่ก็ควรเลือกร้านที่ดูแล้วว่าใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ หรือกลับบ้านมาทำกินเองก็จะปลอดภัยที่สุด