วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7281 ข่าวสดรายวัน


กิมจิ


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



ถึง น้าชาติ

ทำไมตอนนี้กิมจิที่เกาหลีมีราคาแพงมากคะ และอยากรู้ประวัติของกิมจิด้วยค่ะ

จาก แม่บ้านโคเรีย

ตอบ แม่บ้านโคเรีย

ปลายตุลาฯ ถึงพฤศจิกาฯ เป็นช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ครอบครัวชาวเกาหลีมักจะทำกิมจิไว้กิน แต่ปีนี้ต้องประสบปัญหาราคาแพง เพราะสภาพอากาศเลวร้ายทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผักกาดขาวปลีอย่างกะทันหัน รัฐบาลเกาหลีใต้จึงแทรกแซงราคากิมจิ เพราะกะหล่ำปลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของกิมจิแพงกว่าปีก่อน 5 เท่า จนชาวบ้านเรียกว่า "กะหล่ำปลีทองคำ" นอกจากนี้ รัฐบาลสั่งยกเลิกภาษีนำเข้าผักจากจีนและสั่งนำเข้าผักเพิ่ม และยังนำเข้าผลิตภัณฑ์ผักสดจากจีนจำนวน 150 ตัน

เว็บไซต์องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี บอกว่า ในหน้าหนาวทำการเพาะปลูกไม่ได้ ชาวเกาหลีโบราณจึงถนอมอาหารไว้กินด้วยการดองเค็มผักมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จึงมีข้อสันนิษฐานกันว่า คำว่า "กิมจิ" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "ชิมเช" ที่แปลว่า ผักดองเค็มนั่นเอง


ต่อมา ในระหว่างศตวรรษที่ 12 พัฒนากิมจิในรูปแบบใหม่ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศและเครื่องปรุงรส

กิมจิเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็นสีแดงตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 (หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นรุก รานใน พ.ศ.2135 หลังจากมีการนำเข้าพริกจากประเทศญี่ปุ่น พริกจึงเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งของกิมจิ ราวปลายสมัยโชซอนสีของกิมจิจึงกลายมาเป็นสีแดง)

กิมจิในราชสำนักโชซอนตามตำรับราชสำนัก ได้แก่ กิมจิที่ทำจากกะหล่ำปลีล้วน กิมจิที่ผสมด้วยปลาหมักจำนวนมาก กิมจิหัวไช้เท้าและกิมจิน้ำ

ซึ่งมีเกร็ดเล็กน้อยว่ากษัตริย์โกชอง (Gojong) กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของโชซอนทรงโปรดก๋วยเตี๋ยวเย็นผสมในกิมจิน้ำพร้อม ด้วยน้ำซุปเนื้อเป็นอาหารมื้อค่ำในฤดูหนาว ดังนั้น จึงมีการทำกิมจิน้ำตำรับพิเศษโดยมีลูกแพร์เป็นส่วนผสมใช้ทำก๋วยเตี๋ยวเย็น โดยเฉพาะ


ปัจจุบัน กิมจิมีมากกว่า 187 ชนิด ส่วนใหญ่แล้วจะมีรสเผ็ด เปรี้ยว และมีกลิ่นฉุน แม้บริษัทอาหารผลิตกิมจิสำเร็จรูปหรือแบบสดขายตามห้างสรรพสินค้า แต่ชาวเกาหลีก็ยังนิยมทำกิมจิกินเองที่บ้าน เกือบทุกมื้อจะต้องมีกิมจิประกอบเป็นเครื่องเคียงและยังนำไปปรุงเป็นส่วน ประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย ซุป ข้าวผัด สตู บะหมี่ จนถึงพิซซ่า และเบอร์เกอร์

ความนิยมกินกิมจิแพร่หลายไปทั่วโลกและเป็นสินค้าส่งออก โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชาวเกาหลีอาศัยอยู่ ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เช่น จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นชาติแรกที่นำกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารญี่ปุ่นและ เรียกกิมจิตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า "คิมุชิ" (Kimuchi) พร้อมทั้งดัดแปลงรสชาติให้เข้ากับอาหารญี่ปุ่นให้มากขึ้น

กิมจิของแท้จากเกาหลีต้องมี "ตัวสัญลักษณ์กิมจิ" เท่านั้นจึงจะแน่ใจได้ว่าเป็นกิมจิที่ทำและใช้วัตถุดิบจากเกาหลี โดยองค์กรการค้าเกษตรกรรมและการประมงเกาหลีใช้สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมาย การค้าที่จดทะเบียนในประเทศเกาหลี เมื่อเดือนมิ.ย. 2543 เพื่อส่งเสริมกิมจิแท้จากประเทศเกาหลี และสร้างความแตกต่างระหว่างกิมจิเกาหลีและกิมจิญี่ปุ่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังปรากฏสัญลักษณ์นี้ในอีกหลายเมืองหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส สเปน สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เยอรมัน แคนาดา นิวซีแลนด์ ฮอลแลนด์ เปรู และประเทศไทย