วันที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7494 ข่าวสดรายวัน


พิณเพียะ


รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com



ตอนเด็กเคยเห็นพิณเปี๊ยะ ตอนนี้ไม่ได้เห็น อยากทราบข้อมูลด้วย

ตูน

ตอบ ตูน


มี ความรู้เรื่องพิณเพียะ หรือ พิณเปี๊ยะ รวบรวมและเรียบเรียงโดย นพดล คชศิลา บัณฑิตสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สรุปความได้ว่า พิณเพียะเป็น 1 ใน 3 เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของล้านนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เครื่องสายทั้งสาม ได้ แก่ พิณเพียะ ซึง สะล้อ กล่าวสำหรับพิณเพียะ เครื่องดนตรีโบราณที่ทุกวันนี้มีผู้บรรเลงได้น้อยมาก นักดนตรีและผู้ศึกษาทางด้านดนตรีได้เปรียบเสียงของพิณเพียะไว้ว่า "ดังม่วนเหมือนเหมยตกใส่ต๋องกล้วยยามเดิ๋ก" แปลว่า เสียงเพียะไพเราะเหมือนเสียงหยดน้ำค้างหยดกระทบใบตองกล้วยยามค่ำคืน

พิณ เพียะมีสาย 1-7 สาย กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ ส่วนหัวหล่อด้วยโลหะสำริด หรือทองเหลือง เป็นรูปนกหัสดิลิงค์ หัวช้าง หรือนกยูง และมีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้ 1.กล่องเสียง หรือ กะโหล้ง ทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่งตามแนวขวาง ตรงกลางเจาะรูเพื่อร้อยเชือกกับเสาค้ำและคันทวย 2.เสาค้ำ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เป็นส่วนต่อระหว่างกล่องเสียงกับคันเพียะ มีรูสำหรับเชือกรัดร้อยผ่านเพื่อผูกให้ยึดแน่นกับคันเพียะ 3.เชือกหรือหวายรัด เป็นเส้นเล็กๆ สำหรับรัดสายเพียะให้ติดกับคันเพียะ และรัดกะโหล้งให้ติดกับคันเพียะ มีเสาค้ำคั่นกลาง ด้านในของเสาค้ำมีรูให้ร้อยผ่านและมีไม้ขัดสำหรับผูกเชือก


4.คัน เพียะ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ช่วงต้นใหญ่แล้วเรียวเล็กไปถึงช่วงปลายที่ใช้สำหรับสวมหัวเพียะ 5.ลูกบิด หรือหลักเพียะ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สำหรับทำหน้าที่ขันสายเพียะเพื่อปรับระดับเสียง 6.สายเพียะ ทำด้วยเส้นโลหะ เช่นทองเหลือง ทองแดง 7.หน่อง คือการรั้งสายเพียะด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ตามตำแหน่งเสียงที่ต้องการทำให้สายเพียะเส้นนั้นมี 2 เสียง การหน่องจะมีเฉพาะเพียะที่มีสายตั้งแต่ 3 สายขึ้นไปถึง 7 สาย 8.หัวเพียะ ทำด้วยสำริดหล่อเป็นรูปหัวสัตว์ต่างๆ และมีรูสำหรับสวมกับปลายคันเพียะ

พิณ เพียะมีวิธีการบรรเลงโดยถือด้วยมือซ้าย แนบกล่องเสียงที่ทำด้วยกะลามะพร้าวไว้กับหน้าอกหรือท้อง ดีดด้วยมือซ้ายและขวาพร้อมขยับเปิด-ปิดกล่องเสียงเพื่อให้เกิดความสั่น สะเทือน และใช้วิธีการ "ป๊อก" คือใช้ปลายนิ้วนางมือขวา หรือเล็บ สะกิดสาย แล้วใช้โคนนิ้วชี้มือขวานั้นประคบสายไว้ เทคนิคนี้จะทำให้เกิดเสียงฮาร์โมนิค หรือโอเวอร์โทน เป็นเสียงที่มีความถี่สูงกว่าเสียงธรรมดาประมาณ 1 ช่วงคู่เสียงขึ้นไป ทำให้เสียงกังวานไพเราะ แต่เบากว่าเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนโดยปกติ

ด้วย เอกลักษณ์ดังกล่าว การบรรเลงพิณเพียะจะต้องใช้การฝึกฝนเป็นอย่างมากเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ทั้งการป๊อก การดีด การจ๊ก (ล้วงสาย) การไข (ขยับเปิดกล่องเสียง) การหับ (ขยับปิดกล่องเสียง) ซึ่งในการทำให้เกิดเสียงแต่ละครั้งอาจต้องใช้เทคนิคทั้งหมดโดยต่อเนื่องกัน จนการที่จะเล่นพิณเพียะได้นั้นมีความยากอยู่มาก ถึงขั้นที่นักดนตรีจาวเหนือมักพูดกันว่า "หัดเพียะสามปี๋ หัดปี่สามเดือน" ปี่คือปี่ซอ หรือปี่จุม ใช้บรรเลงประกอบการขับร้อง โดยผู้เป่าต้องใช้ไหวพริบที่จะเป่าให้สอดคล้องประสานกับเนื้อร้องและปี่เล่ม อื่นๆ ในกลุ่ม จึงต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนค่อนข้างนาน การนำมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าการหัดดีดเพียะเป็นเรื่องยากมาก

ประกอบ กับหัวเพียะทำด้วยโลหะ ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถหล่อขึ้นเองได้ ผู้ที่มีหัวเพียะส่วนมากได้มาจากบรรพบุรุษ ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ และรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายประการทำให้จำนวนของพิณเพียะมีน้อย ผลที่ตามมาคือทุกวันนี้มีผู้สามารถบรรเลงพิณเพียะได้น้อยคน