สธ.เผยผลพิสูจน์ แม่แท้งลูก ไม่เกี่ยววัคซีน 09

วัคซีน

สธ.เผยผลพิสูจน์ แม่แท้งลูก ไม่เกี่ยววัคซีน 09 (ไทยรัฐ)

          วันที่ 2 ก.พ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงหรือ เหตุข้างเคียงที่อาจเกี่ยวพันกับวัคซีนที่มี พญ.สุจิตรา นิมมานิตย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นประธานว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณากรณีหญิงตั้งครรภ์และลูกเสียชีวิตหลังมารดาเข้ารับการ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ทั้ง 6 กรณี ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่ จ.สกลนคร 1 ราย เด็กเสียชีวิตแต่แม่ปลอดภัย เกิดจากแม่มีอาการครรภ์เป็นพิษ

          จ.พัทลุง และ จ.มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย มารดามีอาการหายใจติดขัดเล็กน้อย หญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลวชิระที่เด็กเสียชีวิตแต่มารดาปลอดภัย 1 ราย และ จ.สตูล 2 ราย ซึ่ง 1 ราย เด็กเสียชีวิตในครรภ์ แต่มารดาปลอดภัย และอีกรายปลอดภัยทั้งแม่ และ เด็ก อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน           

          รม ว.สธ. กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางการแพทย์ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องวัคซีน ใน 4 ประเด็น คือ 
          1. ไม่ควรชะลอการฉีด เนื่องจากตัวเลขที่สงสัยว่าผลข้างเคียงอาจเกิดจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่รุนแรงมากกว่าผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดตามปกติ

          2. เน้นรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนโดยความสมัครใจ

          3. ให้ความรู้ประชาชนให้เข้าใจว่าวัคซีนปกติมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นอย่างไร

          4. การฉีดวัคซีนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ สธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น โรงพยาบาลมีเครื่องมือช่วยหากเกิดอาการผิดปกติ ตรวจสุขภาพก่อนเข้ารับการฉีด มีระบบติดตามหลังการฉีด ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ ก่อนตัดสินใจจะให้วัคซีน ต้องมีแพทย์สูติกรรมหรือพยาบาลที่รับฝากครรภ์แต่ละรายให้คำแนะนำเพื่อความ ปลอดภัยสูงสุด           

          "เมื่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญสรุปชัดเจนว่ากรณีหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 6 ราย เกิดผลข้างเคียง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับการฉีดวัคซีน ดังนั้น จ.สตูล ที่ได้มีการสั่งให้ชะลอการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ก็สามารถดำเนินการต่อได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของ สธ. อย่างเคร่งครัด" นายจุรินทร์กล่าว           
          พญ.สุจิตรา กล่าวว่า คณะกรรมการฯประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาทั้งสูตินารีแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โดยกรณีหญิงท้องที่โรงพยาบาลวชิระ อายุ 38 ปี หลังฉีดวัคซีนมีอาการเวียนศรีษะนิดหน่อย ซึ่งเป็นอาการพบบ่อยถึง 90 %หลังรับวัคซีน จากนั้น 5 วัน แม่จึงรู้สึกเด็กไม่ดิ้น และมาพบแพทย์ แพทย์ทำคลอดและตรวจเด็กมีจุดเลือดออกตามตัวและในสมอง เกิดจากเด็กขาดอากาศหายใจ เมื่อมีการตรวจรก พบว่ารกไม่สมบูรณ์ ขาดเลือดไปเลี้ยง           

          กรณีหญิงตั้งครรภ์ 2 รายที่ จ.สตูล รายแรกอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ เวียนศีรษะไม่กี่นาทีแล้วหายไป จากนั้นมารดากลับบ้านไปทำสวนยางและหกล้ม ปวดหัว ชัก และเลือดออกในสมอง  แต่ขณะนี้ปลอดภัยทั้งมารดาและเด็ก  และรายที่ 2 อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ซึ่งเด็กเสียชีวิต พบว่ามารดามีประวัติการสูบใบจากและบิดาสูบกัญชา มีผลต่อเด็กในครรภ์และทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ การที่เด็กเสียชีวิตในครรภ์จึงน่าจะเป็นผลจากบุหรี่และกัญชา
          ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ จ.สกลนคร พบว่ามารดาอายุ 22 ปี อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ แต่มารดาอ้วนมาก ความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวในปัสสาวะเกิดจากครรภ์เป็นพิษ และเป็นเบาหวาน แม้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็กระทบสามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้           

          "ถ้าประชาชนไม่ทราบและไม่เข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการ รับวัคซีนก็จะเสียโอกาส โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เพราะเมื่อป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการรุนแรง จากการระบาดในรอบแรก พบว่า ผู้ป่วย 30,000 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 96 ราย และเสียชีวิต 12 ราย คิดเป็นถึง 12 %" พญ.สุจิตรากล่าว
http://health.kapook.com/view9746.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก