วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7467 ข่าวสดรายวัน


รัฐสวัสดิการ


รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com



อยากทราบข้อมูลของคำว่ารัฐสวัสดิการ มีที่มาอย่างไร

manas

ตอบ manas


ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร มหา วิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ อธิบายไว้ว่า รัฐสวัสดิการ (Welfare State) ในความหมายรวบยอดหมายถึง รัฐหรือประเทศที่มีการจัดระบบสวัสดิการสังคมอย่างทั่วด้านให้แก่ทุกคนใน สังคมอย่างถ้วนหน้า (Welfare for All) สวัสดิการต่างๆ ที่จัดขึ้นนั้นดำเนินงานโดยรัฐทั้งหมด โดยรัฐสวัสดิการมีลักษณะทั่วไป 3 ประการ คือ 1.รัฐประกันรายได้ขั้นต่ำของทุกคนในสังคม โดยไม่คำนึงว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร ทำงานอะไร มีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน 2.สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ทุกคน ทุกครัวเรือน โดยให้มีหลักประกันทางรายได้และอยู่รอดปลอดภัยจากภาวะวิกฤตต่างๆ 3.ให้พลเมืองทุกคน โดยไม่เลือกกลุ่มคน ชนชั้นและสถานภาพ ได้รับบริการสังคม (social service) อย่างเสมอหน้ากัน ด้วยมาตรฐานที่ดีที่สุดเท่าเทียมกัน


รัฐ สวัสดิการถูกสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในประเทศอังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ด้วยนโยบายสังคมของพรรคแรงงาน พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคสังคมนิยมในยุโรป เนื่องจากว่าพรรคเหล่านี้เป็นตัว แทนของคนชั้นล่างที่เป็นมนุษย์ค่าจ้าง และคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมอุตสาหกรรม พรรคเหล่านี้จึงมีนโยบายเก็บภาษีก้าวหน้า เก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากๆ แล้วนำรายได้นั้นมาจัดสรรเป็นสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง แต่นโยบายภาษีดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงของคนชั้นสูงและชนชั้นนายทุน นโยบายสร้างรัฐสวัสดิการจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคที่อำนาจรัฐอยู่ภายใต้ การยึดครองของพรรคนายทุนหรือพรรคของพวกขุนนาง

รัฐสวัสดิการไม่ได้ เกิดขึ้นง่ายๆ ยกตัวอย่างสวีเดน มีสวัสดิการสังคมประเภทช่วยเหลือเฉพาะคนยากจน ตั้งแต่ ค.ศ.1847 กระแสสังคมนิยมกับการเกิดพรรคสังคมประชาธิปไตย ในปี 1889 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น กระทั่ง ค.ศ.1930 มีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่ โดยมีการถกเถียงกันใน 2 เรื่อง คือ 1.จะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (จนหรือรวยได้รับสวัสดิการเหมือนกัน) หรือแบบให้เฉพาะคนจน (ต้องพิสูจน์ว่าจนถึงจะได้) และ 2.รัฐจะหาเงินจากไหนมาใช้จ่ายสวัสดิการสังคม จากรายได้ภาษีอากร หรือจากการสมทบเงินของผู้ได้ประโยชน์ (เช่นระบบประกันสังคมของไทยในปัจจุบัน)

ในที่สุดปี ค.ศ.1945 ได้มีการสำรวจประชามติ ซึ่งพบว่าคนส่วน ใหญ่ต้องการสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า และปีต่อมาก็เป็นจุดเปลี่ยนประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการ แบบที่คนได้รับสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า อย่างดีเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องสมทบเงิน เพราะรัฐใช้รายได้จากภาษีอากร (เก็บในอัตราที่สูง) พรรคสังคมประชาธิปไตยได้ครองความเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 ถึง 1976 โดยไม่มีพรรคอื่นมาคั่นกลาง

ส่วนอังกฤษ หลังจากเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างแบบถ้วนหน้าไม่สมทบเงิน กับแบบสมทบเงิน ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุดก็สรุปว่า รัฐและประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบสวัสดิการสังคม โดยรัฐช่วยจัดการให้มีสวัสดิการขั้นต่ำอัตราเดียว ประชาชนร่วมกันลงขันแบบอัตราเดียว ถ้าใครต้องการมีกินมีใช้มากกว่าขั้นต่ำก็ต้องช่วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนจนรัฐก็ช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบให้เปล่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลซึ่งมาจากพรรคอนุรักษนิยมกลับประกาศว่าจะยังไม่ดำเนินการตามแนวทางนี้ จนกระทั่งการเลือกตั้ง ค.ศ.1945 พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง จึงได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมทั้งหมด 8 ฉบับ ให้สวัสดิการประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย