สธ.เตือนระวังกินเห็ดพิษ พบปี '53 ตาย 13 ราย ป่วยเกือบ 2 พัน

credit ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2554 13:24 น.
 สธ.เตือนระวังบริโภคเห็ดพิษ พบปี 2553 มีผู้ป่วยจากเห็ดพิษเกือบ 2,000 ราย เสียชีวิต 13 ราย พบมากสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทุกๆ ปี โดยเฉพาะฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะมีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเห็ดพิษในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่สำคัญและที่มีพิษร้ายแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิตที่พบได้บ่อย คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก เห็ดไข่ห่าน และเห็ดไข่ตายซาก จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ล่าสุดในปี 2553 มีเหตุเกิดขึ้น 44 ครั้ง มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 1,965 ราย เสียชีวิต 13 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 80 อยู่ในชนบท จังหวัดที่พบมากสุด 5 อันดับแรก คือ จ.เลย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครพนม และมุกดาหาร


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       อาการผู้กินเห็ดพิษ ส่วนใหญ่ทุกรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รองลงมา ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาการจะเกิดขึ้นหลังกินแล้วประมาณ 20 นาที ถึง 24 ชั่วโมง รายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1-8 วัน ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะตับ ไตวาย ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ต้องทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาวเพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที
      
       ทั้งนี้ วิธีสังเกตเห็ดพิษส่วนใหญ่จะงอกงามในป่า มีลักษณะก้านสูง ลำต้นโป่งพองออกโดยเฉพาะที่ฐานกับที่วงแหวนเห็นชัดเจน สีผิวของหมวกเห็ดมีหลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง เห็ดพิษแม้จะปรุงสุกแล้วพิษจะยังอยู่ เนื่องจากความร้อนทำลายไม่ได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรบริโภคเห็ดที่ไม่รู้จัก



credit link  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000087791