วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7292 ข่าวสดรายวัน


ปั๊มน้ำมัน


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



น้าครับ การตั้งปั๊มน้ำมันมีหลักการไหม เพราะเป็นวัตถุไวไฟ เกี่ยวกับความปลอดภัยของคน น้าเห็นด้วยไหม

Ton32

ตอบ Ton

สถานีบริการน้ำมันที่จะเปิดบริการต้องมีความปลอดภัยตามกฎของกรมโยธาธิการ โดยเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ดังนี้ 1.สถานที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีทางเข้าออกติดหรือเชื่อมกับ ถนนหลวงหรือถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 8-12 เมตร ทางเข้าออกมีขนาดกว้างพอให้รถผ่านเข้าออกได้สะดวก ไม่อนุญาตให้สร้างสถานีบริการน้ำมันบริเวณทางโค้ง เพราะเป็นจุดที่ล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุ ภายในเขตสถานีบริการต้องไม่มีอาคารอื่นใดนอกจากอาคารบริการสูงไม่เกิน 2 ชั้น สร้างด้วยวัสดุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีชั้นลอย และจัดระยะห่างระหว่างอาคารเหมาะสม

นอกจากนี้ เครื่องสูบและตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอยู่ห่างจากริมผนังของอาคารบริการ ไม่น้อยกว่า 4 เมตร และตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงต้องยึดแน่นอยู่บนแท่นคอนกรีตสูงกว่าระดับพื้น โดยรอบไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร มีแสงสว่างเพียงพอในยามค่ำคืน หรือติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน


2.ภายในสถานีบริการต้องติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการจ่ายน้ำมัน และต้องตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เสมอ อาทิ เครื่องวัดระดับน้ำมันในถังใต้ดิน ในแต่ละวัน พนักงานต้องเช็กปริมาณน้ำมันจากเครื่องวัดระดับน้ำมันในถังใต้ดิน เพื่อสังเกตดูว่าเกิดการรั่วไหลออกมาภายนอกหรือไม่ และตรวจสอบอุณหภูมิภายในถังให้อยู่ในภาวะ ปกติ ทั้งมีระบบสวิตซ์ฉุกเฉินของวงจรไฟฟ้าที่จะพร้อมทำงานทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุก เฉิน ในส่วนของหัวจ่ายจะมีอุปกรณ์หยุดการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันมิให้น้ำมันเชื้อเพลิงล้นถังในขณะเติมน้ำมัน หัวจ่ายถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้ลื่นไหลหลุดจากช่องเติมน้ำมันได้ง่าย

3.จัดเก็บสารเคมีอันตรายอย่างเป็นระบบชัดเจน สารเคมีอันตรายต้องจัดเก็บในห้องอย่างมิดชิด เชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟสูงอย่างน้ำมันเบนซินต้องเก็บไว้ในถังใต้ดิน เป็นถังที่มีผนังหรือชั้นที่ออกแบบคำณวนและผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากลเพื่อ ความปลอดภัย โดยเชื้อเพลิงจะติดไฟได้ก็เมื่อมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ไอน้ำมัน อากาศ และความร้อนที่ถึงจุดวาบไฟหรือประกายไฟ วิธีลดความเสี่ยงคือแยกสิ่งทั้ง 3 ออกจากกัน ความร้อนที่ถึงจุดวาบไฟจะเป็นตัวที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ดังนั้นการเก็บถังน้ำมันใต้ดินนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแยกไอน้ำมันเชื้อ เพลิงออกจากอากาศและประกายไฟ และต่อท่อหายใจจากถังน้ำมันเพื่อเป็นทางระบายและควบคุมความดัน เพื่อความปลอดภัยต่อถังน้ำมัน

4.มีอุปกรณ์ดับเพลิงเตรียมพร้อมบริเวณลานจ่ายเสมอ โดยกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย 2 เครื่อง ต่อตู้จ่ายน้ำมัน 1-4 ตู้จ่าย และ 3 เครื่องต่อตู้จ่าย 5-8 ตู้จ่าย หากมีตู้จ่ายเกิน 8 ตู้จ่าย ให้ติดเครื่องดับเพลิงเพิ่ม 1 เครื่องต่อทุกๆ 3 ตู้จ่าย 5.ความรับผิดชอบของบริษัทน้ำมันก็มีส่วนสำคัญ โดยการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงใน 2 ระดับ ระดับที่หนึ่งจะควบคุมไอน้ำมันที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นจากการจ่ายน้ำมันที่ คลังและขณะลงน้ำมันในสถานีบริการ และระดับที่สองจะควบคุมระหว่างจ่ายน้ำมันจากตู้จ่ายลงสู่รถ ส่วนที่สำคัญที่สุดของอุปกรณ์กักไอน้ำมันระดับที่หนึ่ง คือตัวที่เรียกว่าพีพีวาล์ว เป็นตัวควบคุมไอน้ำมันไม่ให้ออกสู่สิ่งแวดล้อมและช่วยควบคุมความดันในขณะที่ มีการจ่ายน้ำมัน

6.ติดตั้งอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอื่นๆ ในสถานีบริการ เช่น การติดตั้งสายดินบริเวณต่างๆ อย่างจุดที่ลงน้ำมัน บริเวณท่อรับไอน้ำมันสู่ถังรถ หรือบริเวณตู้จ่ายสายมือจ่าย เพื่อป้องกันไฟฟ้าสถิตที่สะสมอยู่ในท่อขณะลงน้ำมันซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิด ประกายไฟและการลุกไหม้ 7.พนักงานควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดในขณะให้บริการผู้ขับขี่เพื่อ ความปลอดภัย และผู้รับบริการก็ควรจะปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด