พบเชื้อไวรัสหวัด 2009 ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ครั้งแรกในไทย





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          วานนี้ (7 สิงหาคม) รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีมหาวิทยา ลัยมหิดล ได้รายงานต่อที่ประชุม ว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ แล้ว 1 ตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการตรวจพบเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์
  
           โดย รศ.ดร.วสันต์ ยอมรับว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดย ที่ผ่านมาทาง รพ.รามาธิบดี ได้มีการตรวจตัวอย่างที่มีการส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการของ รพ.รามาธิบดี ประมาณ 12,000 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 80% ตรวจพบว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1 )
   
           อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยไวรัสวิทยาฯ ได้ทำการสุ่มตัวอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มาถอดรหัสพันธุกรรมประมาณ 50 ตัวอย่าง พบว่า 2 ตัวอย่างพบเชื้อมียีนดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ โดยตัวหนึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล กรณีนี้เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากสหรัฐ ซึ่งการที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะขณะนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในบ้านเราดื้อต่อยาโอเซลทามิเวีย ร์ประมาณ 70-80% แต่อีก 1 ตัวอย่างถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่า เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ โดยจากการย้อนไปดูข้อมูล พบว่าคนไข้รายนี้เป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลรามาธิบดี และหายป่วยแล้ว
  
           รศ.ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า การจะบอกว่าเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์หรือไม่ องค์การอนามัยโลกระบุว่า จะต้องดูที่ยีนสร้างเอ็น 1 ในตำแหน่ง H274Y หากตำแหน่งนี้ผิดแปลกไปก็จะบอก   ได้ทันทีว่าเป็นเชื้อดื้อยา ซึ่งทางห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพบตรงนี้ แต่ต้องย อมรับว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจน้อยเกินไป ดังนั้นคงต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อยู่เป็นระยะ และมากขึ้น เพื่อดูว่าเชื้อดื้อยาหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่พบเลย หรืออาจจะพบเพิ่มขึ้นก็ได้
  
           "การ ตรวจหาเชื้อดื้อยาตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ห้องปฏิบัติการของ รพ.รามาธิบดี ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลที่ตรวจพบในครั้งนี้คงจะมีการรายงานไปยังผู้บริหารกระทรวงสาธารณ สุขให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตามคงต้องบอกว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เราพบในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามันมิใช่เบา ๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และการ ที่เชื้อดื้อยาเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว   ว่าจะเกิดขึ้น หากตรวจพบว่ามีการดื้อต่อยา โอเซลทามิเวียร์ก็จะได้ให้ยาตัวอื่นรักษาต่อไป" รศ.ดร.วสันต์ กล่าว

           ขณะที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รัฐบาลแต่งตั้งเป็นหน่วยงานสนับสนุน สธ. ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ช่วง เดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ การแพร่ระบาดยังเป็นช่วงขาขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปกติที่ไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากที่สุด จึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยสถิติในปี 2551 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ช่วงเดียวกันประมาณ 10,000 รายต่อเดือน ขณะที่ปีนี้ในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เฉลี่ยมากกว่าเดิมประมาณ 10 เท่า เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

           "การมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกันฯ มาเป็นหน่วยงานกลางประสานกับทุกภาคส่วนในสังคม จะทำให้การป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายวิทยา กล่าว

           รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้รับรายงาน มีการโฆษณาขายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ผ่านทางเว็บไซต์จำนวนมาก โดยพบว่าชื่อที่มีการนิยมใช้ในการประกาศขายยาดังกล่าวมากที่สุดคือ วิทยา 88 และวิทยา 68 ซึ่งอาจจะเป็นยาปลอมที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ บางเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า มีการลักลอบนำยาต้านไวรัสชนิดนี้จากประเทศไทยไปขายยังประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์จำนวนมาก ขณะที่ยาชนิดนี้ก็มีราคาไม่แพงในประเทศไทย

http://health.kapook.com/view2455.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก