ปอดบวม แทรกซ้อน...อีกภัยร้ายสุขภาพยุค 2009


โรคปอดบวม
ปอดบวม

ปอดบวมแทรกซ้อน...อีกภัยร้ายสุขภาพยุค 2009
(เดลินิวส์)
โดย : ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ

          ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินชื่อ "โรคปอดบวม" บ่อยๆ จากหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ เพราะนอกจากโรคปอดบวมจะเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจยอดฮิตในช่วงหน้าฝน แล้ว ภาวะโรคปอดบวมยังเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วย เสียชีวิตอีกด้วย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคปอดบวมเป็น 1 ใน 3 โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สำคัญในประเทศไทยขณะนี้ โดยข้อมูลระหว่างวันที่  1 ม.ค. - 13 มิ.ย. 2552 พบว่า ปอดบวมเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของโรคระบบทางเดินหายใจ คิดเป็นผู้เสียชีวิต 418 ราย จากผู้ป่วย 50,363 ราย รองลงมาได้แก่ วัณโรค ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 76 ราย จากจำนวนผู้ป่วย 15,878 ราย

          ส่วน ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปกติที่ระบาดตามฤดูกาล มีจำนวน 5,894 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
   
          สำหรับ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคปอดบวมเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ข้อมูลจาก พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และวชิรพยาบาล ระบุว่า ปัจจุบันคนตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากมีการรายงานผู้เสียชีวิตในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่จริงๆ แล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดไข้หวัด ซึ่งถ้าร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันจะสามารถรักษาให้หายได้เอง แต่หากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกระจายไปสู่อวัยวะที่สำคัญต่างๆ เช่น หากเชื้อลงไปที่หลอดลม และปอด ก็จะทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม ปอดอักเสบ หากเชื้อไปที่หูก็จะทำให้เป็นหูน้ำหนวกและไซนัสอักเสบ เป็นต้น

          โดย เฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ และยังไม่รู้วิธีป้องกันเชื้อโรคต่างๆ จึงอาจทำให้การติดเชื้อมีความรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่หลายเท่า ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้พ่อแม่ และผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูที่โรงเรียนช่วยเฝ้าระวัง และป้องกันการติดเชื้อในเด็กเล็กเป็นพิเศษ
   
          ทั้งนี้พบว่า โรคปอดบวม นับ เป็นโรคแทรกซ้อนอันดับต้นๆ ที่สำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในปัจจุบัน และยังพบว่า โรคปอดบวม เกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน เป็นโรคที่มีความรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพราะปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอดจะทำให้เนื้อปอดโดนทำลาย ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนและทำให้เสียชีวิตในที่สุด
   
          ความ รุนแรงของโรคปอดบวมขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นๆ ในร่างกายของแต่ละคน ซึ่งมีระดับต่างกัน อีกทั้งชนิดของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพราะเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมมีหลายชนิด หากเป็นเชื้อไวรัสก็อาจพบปัญหาการกลายพันธุ์ ทำให้ยาต้านไวรัสไม่สามารถรักษาได้ รวมทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน และหากเป็นเชื้อแบคทีเรีย ก็จะพบปัญหาการดื้อยา ที่พบบ่อยได้แก่เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (นอกจากปอดบวมแล้ว เชื้อนี้ยังก่อให้เกิดกลุ่มโรคไอพีดีอีกด้วย) ซึ่งทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาไม่ได้ผล แต่โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้แล้ว
   
          ใน กรณีเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดบวมนั้น พ่อแม่ควรเฝ้าระวังและป้องกันอย่างใกล้ชิด ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและดูแลสุขภาพของลูกให้แข็งแรง และหากลูกไม่สบายต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถบอกกล่าวอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตนเอง และบางครั้งมีโอกาสเป็นปอดบวมแทรกซ้อนได้ โดย หากเป็นไข้หวัดหรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เด็กจะมีเพียงอาการไข้ มีน้ำมูก ไอมีเสมหะ เจ็บคอ แต่ไม่มีอาการหายใจเร็ว แต่หากเป็นโรคปอดบวม เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบ หรือหายใจลำบาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากการนับอัตราการหายใจของลูก โดยถือว่ามีอาการหายใจเร็ว (หอบ) เมื่ออัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาทีในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน  มากกว่า 50 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุ 2 เดือน-1 ปี และมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีในเด็กอายุ 1-5 ขวบ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกอาจเป็นปอดบวม ควรรีบพาไปพบแพทย์
   
          แต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือการป้องกันโรคร้ายต่างๆ มากกว่าที่จะมาคิดวิธีรักษา เพราะเดี๋ยวนี้โรคต่างๆ มีการพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่รอด จึงทำให้รักษาได้ยากยิ่งขึ้น โดยวิธีเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เพื่อให้ลูกมีสุขภาพดีและแข็งแรง ได้แก่ การให้ลูกได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งนมแม่ถือเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ  5 หมู่ นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้ยังต้องเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยการให้ลูกได้รับวัคซีนให้ครบตามกำหนด วัคซีนในปัจจุบันมีทั้งวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ และวัคซีนทางเลือกอีกหลายชนิด เช่น วัคซีน ไอพีดี ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคปอดบวมจากเชื้อ นิวโมคอคคัส ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็ก แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์และความคุ้มค่าด้วย
   
          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า "โรคปอดบวม" จะพบการแพร่ระบาดมากในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่หนุ่มๆ สาวๆ วัยทำงาน ก็อย่าวางใจ หากพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด ตลอดจนหากมีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอ จะทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อต่างๆ ฉะนั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีต้อง "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด" รวม ทั้งพยายามหาความรู้ใหม่ในการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของตนเองและลูก น้อยจากแหล่งต่าง ๆ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัว


http://health.kapook.com/view2814.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก