แนะวิธีลดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009


สุขภาพ

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล รวมทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 กลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จึงมีการคาดการณ์กันว่า แนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่น่าจะขยายออกไปในวงกว้าง

          นอกจากนี้ การจัดงาน จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้คำแนะนำ เพื่อป้องกันการเกิดโรค และลดการระบาด ดังนี้

1. คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป

          ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จ มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน  ควรไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

          ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู หรือแขนเสื้อของตนเอง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด  เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

          ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป

          หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย (ในระยะ 1 เมตร) และในพื้นที่ที่มีการระบาด ไม่ควรเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น สถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากจำเป็นเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวต้องป้องกันตนเองอย่างดี  โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรสวมหน้ากากอนามัย

          งดกิจกรรมการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และในช่วงเวลาดังกล่าวหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด  หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

2. คำแนะนำสำหรับการรวมตัวกันของคนหมู่มาก

          หากจะมีการรวมตัวกันของคนหมู่มากภายในพื้นที่อันจำกัด เช่น การแสดงมหรสพ การประชุมขนาดใหญ่ การแข่งขันกีฬา งานนิทรรศการ งานแต่งงาน งานรื่นเริง  งานบุญ  หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ กิจกรรมดังกล่าว มีโอกาสที่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคและผู้เข้าร่วม กิจกรรมมีความเสี่ยงที่จะติดโรค ไม่ว่าจะเป็นสถานที่กลางแจ้งหรือในร่ม  ควรมีการปฏิบัติเช่นเดียวกัน  ดังนี้

2.1 คำแนะนำสำหรับผู้มาร่วมกิจกรรม

          1. ผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอมีน้ำมูกแม้จะมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วย หรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน  และไม่ควรเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมกับคนหมู่มาก  แต่หากจำเป็นต้องเข้าร่วมงาน ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา  และล้างมือบ่อย ๆ

          2. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน  ควรหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่

          3. ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรม ควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย  เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอลเจลบ่อย ๆ หากมีอาการไอ จาม ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากปิดจมูก หากไม่มีหรือหยิบไม่ทัน ไม่ควรใช้มือป้องจมูกปาก เพราะเชื้อจะติดอยู่ที่มือ แล้วจะไปเปรอะเปื้อนตามสิ่งของเครื่องใช้ต่าง  ๆ  ให้ไอจามใส่แขนเสื้อแทน ซึ่งจะช่วยลดการกระจายเชื้อได้ดี

          4. การสวมหน้ากากอนามัยจะเป็นประโยชน์มาก หากผู้ที่มีอาการป่วยเป็นผู้สวม เพราะจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเวลาไอจามได้ดี ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการป่วย โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจจะได้ประโยชน์จากการสวม หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีที่เข้าไปอยู่ในที่แออัด ที่อาจจะมีผู้เป็นไข้หวัดใหญ่อยู่ด้วย
         
2.2 คำแนะนำสำหรับผู้จัดงานหรือเจ้าภาพงาน

          1. ผู้จัดงานหรือกิจกรรมการรวมตัวของคนหมู่มาก ควรให้ข้อมูลคำแนะนำการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคแก่กลุ่มเป้าหมายที่จะ มาร่วมงาน หรือกิจกรรมล่วงหน้า โดยใช้ช่องทางต่าง ๆ เช่น การส่งจดหมายแจ้งข่าว การลงคำแนะนำในหนังสือพิมพ์ มุมนิทรรศการรวมทั้งการประกาศในงาน

          2. ผู้จัดงานควรอำนวยความสะดวกในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคแก่ผู้ร่วมงาน เช่น

          ทำป้ายคำแนะนำ หรือหน่วยบริการให้คำแนะนำผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่บริเวณทางเข้างาน

          จัดอ่างล้างมือ พร้อมสบู่ กระดาษทิชชู ในห้องน้ำให้พอเพียง

          จัดให้มีผู้ทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่มีผู้สัมผัส ปริมาณมาก เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป อย่างสม่ำเสมอและบ่อยกว่าในภาวะปกติ (หากเป็นประตูที่สามารถใช้ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใช้ด้านหลังของลำตัวผลักประตูออกได้ จะช่วยลดโอกาสการสัมผัสเชื้อโรค)

          จัดหาหน้ากากอนามัย สำหรับผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกิจกรรม

          จัดจุดปฐมพยาบาลให้การดูแลรักษาเบื้องต้น แก่ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยแยกผู้ป่วยออกจากกิจกรรมการรวมตัวนั้น  รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาล

          ควรพยายามลดความแออัดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น เพิ่มจำนวนรถที่นำประชาชนเข้างาน กระจายมุมจำหน่ายอาหาร

          จัดบริการทางเลือกทดแทนการมาร่วมงาน เช่น ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือ การถ่ายทอดทางสื่อมวลชน

แหล่งข้อมูลการติดต่อเพื่อปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

          กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0 2245 8106, 0 2246 0358 และ 0 2354 1836

          ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

          เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.thและ หากมีข้อสงสัย ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์  กระทรวงสาธารณสุข  หมายเลขโทรศัพท์  1422  ตลอด 24 ชั่วโมง และศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 


http://health.kapook.com/view16964.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก