วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7511 ข่าวสดรายวัน


นางกวัก


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



ถึง น้าชาติ

วันก่อนอ่านข่าวมีคนขโมยนางกวักจากร้านขายข้าวที่ขายดี เลยอยากรู้ประวัติของนางกวักและทำไมบูชานางกวักแล้วค้าขายดีคะ

จาก แม่ค้าหน้านวล

ตอบ แม่ค้าหน้านวล

ตาม ตำนานที่กล่าวขานกันมามี 2 ที่มา ในวิกิพีเดียบอกเล่าตำนานแรกว่า นางกวัก มีชื่อว่า สุภาวดี บิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ มารดาชื่อ สุมณฑา เกิดที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ (อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี) ประเทศอินเดีย ครอบครัวทำมาค้าขาย ต่อมาพ่อซื้อเกวียนมา 1 เล่ม เพื่อนำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น ซึ่งนางสุภาวดีขอติดตามไปด้วยเป็นบางครั้ง เพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย

สุภาวดีมีโอกาสฟังธรรม เทศนาจากพระกัสสปเถระเจ้า หลังจากสุภาวดีฟังธรรมเทศนาแล้ว พระกัสสปเถระเจ้าได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว โดยได้ตั้งกุศลจิตประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่สุภาวดีมีโอกาสไปฟังจนจบ อำลากลับ

ต่อมา สุภาวดีมีโอกาสฟังธรรมพระอริยสงฆ์อีกท่านหนึ่ง คือพระสิวลีเถระเจ้า ซึ่งสุภาวดีฟังธรรมอย่างตั้งใจเช่นกัน ทุกครั้งที่สุภาวดีได้ฟังธรรมและลากลับ พระสิวลีเถระเจ้าได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัวเช่นเดียวกัน จิตของสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ส่งผลให้บิดาทำการค้าได้กำไรไม่เคยขาดทุน

พรที่นางสุภาวดีได้รับ คือ "ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆ สมความปรารถนาเถิด"

สุจิต พราหมณ์ทราบดีว่าสุภาวดีคือผู้ที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง นำโชคลาภมาให้ครอบครัว ทำให้ฐานะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี มีเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบได้กับธนัญชัยเศรษฐี บิดาของวิสาขาแห่งแคว้นโกศล เมื่อนางสุภาวดีเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านจึงปั้นรูปแม่นางสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อดังกล่าวนี้แพร่หลายเข้ามายังสุวรรณภูมิ จากการเผยแพร่ของพราหมณ์ และยังคงเป็นความเชื่อสืบมาจนถึงทุกวันนี้

อีกตำนานหนึ่ง บอกว่านางกวักเป็นลูกสาวคนเดียวของปู่เจ้าเขาเขียวหรือท้าวพนัสบดี ซึ่งเป็นเจ้าชั้นจาตุมหาราชิกา มีตำแหน่งเป็นพระพนัสบดีคือ เจ้าแห่งป่าเขาลำเนาไพรทั้งปวง ครั้งนั้น อสูรหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับปู่เจ้าเขาเขียว ชื่อ ท้าวอุณาราช ถูกพระรามเอาศรต้นกกแผลงศรไปถูกทรวงอกแล้วตรึงร่างไปติดกับเขาพระสุเมรุ คำสาปจะสูญสิ้นก็ต่อเมื่อบุตรของท้าวอุณาราชทอใยบัวเป็นจีวรเพื่อถวายแด่พระ ศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้

ท้าวอุณาราชจึงมีชื่อเรียกว่า ท้าวกกขนาก และนางนงประจันต์ บุตรสาวของท้าวกกขนากต้องอยู่คอยปรนนิบัติพระบิดาและพยายามทอจีวรด้วยใยบัว เพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้ในภายหน้า เมื่อนางนงประจันต์มาคอยดูแลพระบิดาอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั้น ฐานะความเป็นอยู่ของนางลำบากมาก ปู่เจ้าเขาเขียวสงสารนางนงประจันต์ จึงส่งนางกวักบุตรสาวมาอยู่เป็นเพื่อน

นางกวักจึงบันดาลให้พ่อค้าและ ผู้คนทั้งหลายเกิดความเมตตา นำทรัพย์สินเงินทองและเครื่องอุปโภคบริโภคมาให้นางนงประจันต์เป็นจำนวนมาก ทำให้ความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับรูปปั้น นางกวัก คือ หากรูปปั้นนางกวักยกมือขึ้นกวักระดับเสมอปาก แปลว่ากินไม่หมด แต่ถ้ากวักต่ำลงมากว่าปาก แปลว่ากินไม่พอ