วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7480 ข่าวสดรายวัน


ผ้าไทย


รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com



ต้องการทราบประวัติศาสตร์ผ้าไทยในอดีต และผ้าไทยมีชนิดละเอียด อย่างไร

aim

ตอบ aim


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15 กล่าวถึงผ้าไทย ว่า ผ้าที่คนไทยเราใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนั้น จะค้นคิดประดิษฐ์ได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานแน่นอนเด่นชัด ทราบ แต่ว่าคนไทยรู้จักนำเอาฝ้าย ปอและไหม มาทอเป็นผ้าได้นานแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบ แสดงให้เห็นว่าบนแผ่นดินไทยมีร่องรอยการใช้ผ้าและทอผ้าได้ตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ คือเมื่อราว 5,000 ปีมาแล้ว

ยังมีจดหมายเหตุจีนที่บันทึกเกี่ยวกับดินแดนของไทยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10-11 ปรากฏข้อความเกี่ยวกับผ้าอยู่ในภาพเขียน "คนไทย" ของ เซียะสุย (Hsich-Sui) จิตรกรแห่งราชสำนักจีน ใน ค.ศ. 1762 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ซิง เป็นหลักฐานสำคัญถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมานานนับพันปี โดยเฉพาะ เรื่องผ้า

ความว่า "สยาม ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแจ้นเฉิน ในสมัยราชวงศ์สุยและราช วงศ์ถังเรียกประเทศนี้ว่า ซื่อถู่กวั๋ว แปลว่าประเทศที่มีดินสีแดง ต่อมาซื่อถู่กวั๋วแบ่งออกเป็นสองรัฐ รัฐหนึ่งเรียกว่าหลัวฮู่ รัฐหนึ่งเรียกว่าฉ้วน (เสียนหรือเสียมในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมารัฐฉ้วนถูกรัฐหลัวฮู่เข้าตี และรวมกันได้ พระเจ้าหงอู่แห่งราชวงศ์หมิงจึงทรงเรียกประเทศใหม่ว่า ฉ้วนหลัว" และ "ตำแหน่งขุนนางมี 9 ชั้น 4 ชั้นแรก ปกติจะสวมหมวกทองที่มียอดสูงและประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ชั้นต่ำลงมาใช้ผ้าโพกศีรษะ ซึ่งจีนเรียกว่าหลงต้วน ทำด้วยผ้าไหม กำมะหยี่ ผ้าเหล่านี้ปักอย่างสวยงามและทอด้วยเส้นทอง หรือมีผ้าสั้นที่มีลายพิเศษด้านนอก ผู้ชายมีผ้าคาดเอวทำด้วยผ้าปักไหม ผ้าคลุมชั้นนอกมี 5 สี ส่วนผ้าชั้นในมีสีสันสวยงามและทอผสมกับเส้นทอง ผ้านุ่งยาวมากกว่าตัวผู้นุ่ง 2-3 ชั้น"

ผ้าไทยมี "ผ้ากรองทอง" ผ้าถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทองเป็นลวด ลาย ส่วนมากนำมาทำเป็นผ้าสไบใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบและผ้าสไบอีกชั้นหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิง "ผ้าขาวม้า" เดิมเรียกผ้ากำม้า ผ้าประจำตัวของผู้ชายใช้สารพัด เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง "ผ้าเขียนทอง" ผ้าพิมพ์เน้นลวดลาย แล้วเขียนเส้นทองตามขอบลาย เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้เฉพาะกษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระ องค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น "ผ้าตาโถง" ผ้าลายตาสี่เหลี่ยมหรือตาทแยง เป็นผ้านุ่งของผู้ชายคล้ายผ้าโสร่ง "ผ้าปักไทย" ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดีปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน ถ้าใช้ไหมสีทองมากก็เรียกว่าผ้าปักไหมทอง

"ผ้าปูม" หรือมัดหมี่ เป็นผ้าส่วยของหลวงมาจากเมืองเขมรที่ใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนาง เดิมไทยเรามีโรงไหมของหลวงทอผ้าสมปักปูมและสมปักเชิงกรวยพระราชทาน ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นลายสีต่างๆ มีสมปักปูมเป็นชนิดสูงสุด สมปักริ้วเป็นชนิดต่ำสุด ดังนั้น ผ้าปูมคงหมายถึงเฉพาะผ้าสมปักปูม "ผ้าพิมพ์" ในสมัยอยุธยามีช่างเขียนลายบนผ้าอยู่แถววัดขุนพรหม และน่าจะมีสั่งทำจากอินเดียด้วย ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่า สั่งทำผ้าพิมพ์หรือผ้าลายจากอินเดียตามแบบลายไทยที่สั่งไป เรียกว่าลายอย่าง ต่อมาอินเดียทำผ้าพิมพ์เองโดยเขียนเป็นลายแปลงของอินเดียผสมลายไทย เรียกลายนอกอย่าง

"ผ้าเปลือกไม้" ทอจากใยที่ทำจากเปลือกไม้ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และเข้าใจว่าคงจะทอใช้เรื่อยมาจนสมัย รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ "ผ้ายก" คำว่ายกมาจากกระบวนการทอ เวลาทอเส้นด้ายหรือไหมที่เชิดขึ้นเรียกว่าเส้นยก ที่จมลงเรียกว่าเส้นข่ม แล้วพุ่งกระสวยไประหว่างกลาง และเมื่อเลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้นก็จะเกิดลายยกขึ้น "ผ้าสมปัก" ผ้านุ่งพระราชทานให้ขุนนาง ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นสีและลายต่างๆ "ผ้าสมรด" หรือสำรด ผ้าคาดทับเสื้อครุยในงานพระราชพิธีของขุนนางชั้นสูง หรือเรียกว่าผ้าแฝง ทำด้วยไหมทอง บางทีหมายถึงผ้าคาดเอวที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้น ปักปีกแมลงทับ "ผ้าไหม" ผ้าทอด้วยเส้นไหม