วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7300 ข่าวสดรายวัน


ไม้ตะพด


รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com



ไม้ตะพด ทราบว่าเป็นอาวุธ มีความเป็นมาประวัติอย่างไร อยากทราบครับ

สุธี

ตอบ สุธี


พบ คำตอบในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ อาจารย์จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์ อรรถาธิบายว่า เมื่อเอ่ยถึง "ไม้ตะพด" คนรุ่นใหม่อาจคิดว่าคือสิ่งเดียวกับ "ไม้เท้า" ที่คนแก่ถือไว้ยันตัวเวลาเดิน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วแม้ไม้ทั้งสองจะมีรูปร่างคล้ายกัน แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์การใช้สอยที่ต่างกันมาก ดังนี้

ใน สมัยโบราณ ไม้ตะพดจัดเป็นเครื่องป้องกันตัวชนิดหนึ่งสำหรับผู้ชายโดยทั่วไป ด้วยสมัยก่อนถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้านจะถือดาบออกไปนอกบ้านหรือจะพกดาบเปลือยฝักไปในที่สาธารณะโดยไม่มี เหตุผลอันสมควรไม่ได้ เนื่องจากมีพระราชกำหนดห้ามไว้ ยกเว้นพวกทหาร ตำรวจ กรมการเมืองที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่คนเหล่านี้หากถอดดาบออกจากฝักโดยบันดาลโทสะ เมาสุรา หรือไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องได้รับโทษเช่นกัน และด้วยข้อห้ามมิให้พกดาบในที่สาธารณะดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ผู้ชายสมัยก่อน เลี่ยงมาใช้ไม้ตะพดเป็นอาวุธแทนดาบ และมักมีไม้ตะพดถือไว้ประจำมือทุกคน โดยนิยมถือเมื่อจะลงจากเรือนไปยังที่ต่างๆ เช่น ไปช่วยงานบวช งานแต่งงาน

ทั้ง นี้ เพราะไม้ตะพดสามารถใช้เป็นสิ่งป้องกันอันตราย มิให้กล้ำกรายมาถึงตัวได้โดยง่าย อย่างเช่น เมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่นยามค่ำคืน ก็ใช้ระพุ่มไม้ให้เกิดเสียงดังเพื่อให้สัตว์ตกใจหนีไปก่อน นอกจากนี้ ผู้ชายชาวบ้านสมัยก่อนยังนิยมถือไม้ตะพดเพื่อแสดงศักดิ์ศรีลูกผู้ชายด้วย

กล่าวคือ หากผู้ใดไม่ถือไม้ตะพดติดมือไปยังต่างถิ่น ผู้คนในถิ่นนั้นๆ จะถือว่าผู้ชายที่มามือเปล่าเหยียบถึงถิ่นตนจะมาลองดี

ไม้ ตะพดที่นิยมใช้กันเมื่อก่อนส่วนมากจะทำมาจากไม้ไผ่ที่เรียกว่า ไม้ไผ่เปร็ง โดยเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี เนื้อแน่นตัน เพราะต้องการให้มีน้ำหนัก เมื่อตัดไม้ไผ่มาแล้วจะต้องนำมาตากให้แห้งสนิทจึงค่อยนำมาตัดแต่งลำให้ตรง ด้วยการลนไฟอ่อนๆ จนลำไม้ตรงตามต้องการ แล้วใช้กาบมะพร้าวชุบทรายละเอียดเคล้ากับขี้เถ้าและน้ำ ขัดถูไม้ตะพดจนสะอาดหมดจดและผิวเกลี้ยงเรียบ แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้ง เป็นอันเสร็จการขัดผิวไม้ หรือบางคนอาจจะตกแต่งผิวไม้ให้สวยงามด้วยการทำให้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น ใช้วิธีเทตะกั่ว นาบด้วยโลหะเผาไฟ หรือย้อมสี เป็นต้น

เนื่องจากคนไทยส่วนมากมีประเพณีนิยมที่จะใช้สอยแต่สิ่งที่ เป็นสิริมงคล โดยมักกำหนดเป็นตัวเลขบ้าง จำนวนบ้าง สัดส่วนบ้าง ซึ่งข้อกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวนี้เรียกกันว่า โฉลก (ตามพจนานุกรม คำนี้หมายถึง โชค โอกาส หรือ ลักษณะที่มีทั้งส่วนดีและไม่ดี มักกำหนดด้วยการดูลักษณะ วัดขนาด หรือนับจำนวนของคน สัตว์ สิ่งของ ว่าเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล) ซึ่งในเรื่องไม้ตะพด โบราณก็บัญญัติโฉลกเอาไว้ให้เลือกไม้ตะพดที่เป็นสิริมงคล เช่น โฉลกที่ 1 "กูตีมึง" และ "มึงตีกู" ใช้สำหรับนับข้อบนไม้ตะพด โดยขึ้นต้นที่หัวไม้ข้อแรกว่า กูตีมึง ข้อที่สองว่า มึงตีกู ว่าสลับกันไปจนหมดข้อสุดท้ายที่ปลายไม้ หากตก กูตีมึง จัดเป็นไม้ตะพดดี แต่ถ้าตก มึงตีกู ถือว่าไม่ดี

โฉลกที่ 2 มีคำว่า "คุก ตะราง ขุนนาง เจ้าพระยา" ใช้นับขนาดความยาวของไม้ตะพด โดยกำมือให้รอบส่วนหัวไม้แล้วจึงว่า คุก คำแรก แล้วเอามืออีกข้างกำต่อลงมาพูดคำว่า ตะราง จากนั้นเปลี่ยนมือแรกมากำต่อลงไปเป็นลำดับที่สามแล้วว่า ขุนนาง แล้วเปลี่ยนมือที่กำอันดับสองมากำต่อไปเป็นอันดับ 4 แล้วว่า เจ้าพระยา เอามือกำสลับกันไปเรื่อย พร้อมทั้งท่องทั้งสี่คำสลับกันไปจนสุดปลายไม้ หากตกคำว่า คุกและตะราง ถือเป็นไม้ตะพดไม่ดี หากตกคำว่า ขุนนาง เสมอตัว แต่ถ้าตกคำว่า เจ้าพระยา ถือว่าดีเลิศ

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปความยาวของไม้ตะพดที่ใช้ส่วนมากกำหนดให้ยาวประมาณ 8 กำ กับเศษ 4 นิ้ว หรือประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่พอเหมาะพอดีกับกำลังมือ