วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7420 ข่าวสดรายวัน


สัญญาณ SOS


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com




เรือไททานิกกำลังล่ม
ถึง น้าชาติ

ดูข่าวสึนามิที่ญี่ปุ่น เห็นคนเขียนอักษร เอสโอเอส (SOS) ขอความช่วยเหลือด้วย ผมอยากรู้ว่า จริงๆ แล้ว SOS ย่อมาจากคำว่าอะไรครับ

จาก Daichi

ตอบ Daichi


ความ เข้าใจโดยทั่วไปมีการตีความสัญญาณขอความช่วยเหลือ (เอสโอเอส) SOS หมายถึง Save Our Souls (ช่วยชีวิตพวกเราด้วย) Save Our Ship (ช่วยเรือของเราด้วย) Stop Other Signals (หยุดสัญญาณอื่นๆ ทั้งหมด) Sure Of Sinking (จมแน่แล้ว) หรือ Send Out Succour (ส่งความช่วยเหลือ)

ส่วนพจนานุกรม ไทย-อังกฤษ หลายเล่มบัญญัติความหมายของเอสโอเอส ว่าหมายถึง สัญ ญาณขอความช่วยเหลือเมื่อมีภยันตรายเกิดขึ้น (กับเรือหรือเครื่องบิน), สัญญาณขอความช่วยเหลือ, การขอความช่วยเหลือ

ไม่ว่าจะตีความหมายของเอสโอเอสว่าอย่างไร แต่ความหมายโดยรวมคือ "ขอความช่วยเหลือ"

ซ้าย-สัญญาน SOSในเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น

ขวา-กดรหัสมอร์สส่งสัญญาณ


ใน เว็บไซต์ Boatsafe.com ระบุว่า กูกลิเอลโม มาร์โคนี ใช้รหัสขอความช่วยเหลือผ่าน สัญญาณวิทยุในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเรือของเขาห่างจากฝั่งไปไกลและห่างจากเรือลำอื่นๆ เขาจึงส่งสัญญาณโดยใช้ "รหัสมอร์ส" ส่งข้อความ "CQD" เพื่อขอความช่วยเหลือ แปลว่า "Come Quick danger" หรือ "รีบมาด่วน อันตราย"

สำหรับรหัส มอร์สนั้น คิดค้นโดย ซามูเอล มอร์ส ในปี 2380 เป็นรหัสสัญญาณสั้น-ยาวใช้แทนตัวอักษรในการส่งข้อความหากัน โดยใช้ขีด ( _ ) แทนเสียงยาว และจุด ( . ) แทนเสียงสั้น แต่ละอักษรประกอบด้วยขีดและจุดแตกต่างกันไป

ในปี 2448 รัฐบาลเยอรมนีพัฒนาข้อบังคับในการส่งสัญญาณวิทยุขึ้นมาเวลาเกิดเหตุด่วนเหตุ ร้าย โดยใช้สัญญาณ SOS ประกอบด้วยจุด 3 จุด ขีดยาว 3 ขีด และจุด 3 จุด แทนเสียงสั้นยาว คือ . . . _ _ _ . . . (ตึด ตึด ตึด ตืด ตืด ตืด ตึด ตึด ตึด) โดยสั้น 3 ครั้ง ( . . . ) เป็นรหัสมอร์สของตัว S และยาว 3 ครั้ง ( _ _ _ ) เป็นรหัสมอร์สของตัว O และมีการเสนอให้ใช้สัญญาณ SOS ในการประชุมการส่งสัญญาณวิทยุนานาชาติ ครั้งที่ 2 โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2451 จากนั้นมาสัญญาณดังกล่าวก็เป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกเพราะเข้าใจง่าย จำได้ง่ายและมีความผิดพลาดน้อยที่สุด

สหรัฐมีการใช้รหัสเอสโอเอส ครั้งแรกในปี 2452 ผู้ส่งสัญญาณชื่อ ที.ดี. ฮับเนอร์ แห่งเรือ เอสเอส อาราพาโฮ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อใบจักรหลุดหายในบริเวณหินโสโครกเดียมอนต์ หรือรู้จักกันในชื่อ "หลุมศพแห่งแอตแลนติก" ซึ่งศูนย์สื่อสารฮัตเตอร์รับสัญญาณนี้ได้และช่วยเหลือได้ทันท่วงที

อีก ไม่กี่เดือนต่อมา เรืออาราพาโฮได้รับสัญญาณ SOS จากเรืออิโร คอยส์ ลูกเรือเอสเอส อาราพาโฮ จึงเข้าช่วยเหลือ จึงถือว่าฮับเนอร์เป็น ผู้ส่งสัญญาณ SOS คนแรกและเป็นผู้รับสัญญาณคนที่สอง

เหตุการณ์ที่คน ทั่วโลกยังจำกันได้ดี คือกลางดึกคืนวันที่ 14 เม.ย.2455 เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งทำให้เรือรั่ว น้ำทะลักเข้าเรืออย่างรวดเร็ว กัปตันสมิธ โธมัส แอนดรูว์ส คาดการณ์ว่าเรือคงจะทนอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง จึงอพยพผู้โดยสารลงเรือบดสำรองซึ่งมีเพียงพอสำหรับผู้โดยสาร 1,000 คน แต่ผู้โดยสารทั้งหมดมีกว่า 2,000 คน

เมื่อเวลาล่วงเลยถึงเที่ยงคืน เข้าวันที่ 15 เม.ย. กัปตันจึงตัดสินใจส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโดยการยิงพลุและส่งสัญญาณ SOS แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เรือไททานิกจมลงก้นทะเลพร้อมกับผู้โดยสารกว่า 1,500 คน รวมทั้งกัปตันด้วย