หยุดโรคถุงลมโป่งพอง ในวันถุงลมโป่งพองโลก 2553



วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก

วันถุงลมโป่งพองโลก

วันถุงลมโป่งพองโลก 2553 (World COPD Day) (สภากาชาดไทย)

           โรค ถุงลมโป่งพอง มีสาเหตุสำคัญ คือ ควันบุหรี่และควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว ประมาณปีละ 3 ล้านคน และโรคนี้จะเลื่อนขึ้นมาเป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกเป็นลำดับที่ 4 ในปี ค.ศ.2030

           ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก จึงได้ร่วมกันกำหนดให้มีวันถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้วันพุธสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันดังกล่าว ซึ่ง ในปี 2553 วันถุงลมโป่งพองโลกตรงกับวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญโรคหนึ่ง อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่

           ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช นุชประยูร รองประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องทุกข์ทรมานจากอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย และหายใจลำบาก เนื่องจากความเสื่อมของถุงลมและปอด ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อให้พบโรคในระยะแรก ๆ

           โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่มีภาวะของการอุดกั้นอย่างเรื้อรังของหลอดลมทั่วปอดทั้งสองข้าง โดยมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่หลอดลมขนาดเล็กและที่ถุงลม เนื่องจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแรมปี สารมลพิษในควันบุหรี่หลายชนิดก่อการระคายเคืองต่อหลอดลม และทำลายผนังถุงลม ทำให้เนื้อเยื่อซึ่งโยงยึดหลอดลมและถุงลมเสื่อมลง หลอดลมเล็ก ๆ ขาดการยึดโยงที่ดี จึงแฟบตัวได้ง่าย เกิดการอุดกั้นของอากาศที่ผ่านหลอดลม โดยเฉพาะในจังหวะของการหายใจออก ทำให้มีลมค้างอยู่ในถุงลมมากขึ้น (ถุงลมโป่งพอง) การมีลมค้างในถุงลมทำให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ และเกิดอาการเหนื่อย นอกจากนี้ ควันบุหรี่ที่ระคายเคืองหลอดลมอยู่นาน ๆ ทำให้ผนังหลอดลมอักเสบและหนาขึ้น มีเสมหะมากขึ้น

เลิกสูบบุหรี่

           อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองก็คืออาการไอเรื้อรังมีเสมหะ และอาการเหนื่อย ซึ่งจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นตามการเสื่อมของถุงลมในปอด และในที่สุดจะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และหัวใจวายตามมา ผู้ป่วยเหล่านี้จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ซึ่งได้แก่ ปอดบวม ภาวการณ์หายใจวายและภาวะหัวใจวาย

           การดำเนินโรคมี 4 ขั้น เริ่มจากขั้นแรกเป็นขั้นที่มีปัจจัยเสี่ยง และเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในหลอดลมเล็ก ๆ เหล่านั้น สามารถกลับคืนสู่ปกติได้เมื่อหยุดบุหรี่สำเร็จ

           ตามมาด้วยขั้นที่ 2 ซึ่งมีการอุดกั้นของหลอดลมและความเสื่อมของถุงลมชัดเจน ซึ่งทราบได้จากการตรวจสมรรถภาพปอด ในขั้นนี้ผู้ป่วยมีอาการไอและเหนื่อยไม่มาก

           ขั้นต่อมาคือขั้นที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้น ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเสื่อมลงอีก ส่วนขั้นสุดท้าย (ขั้นที่ 4) ผู้ป่วยมีการเสื่อมของหลอดลมและถุงลมมาก มีภาวการณ์หายใจวายและหัวใจวายเกิดขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งออกซิเจน

           แม้ว่าโรคถุงลมโป่งพองจะเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขโรคหนึ่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ความตระหนัก และการรับรู้ของประชาชนในโรคนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร

           ใน การรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ และความตระหนักต่ออันตรายของโรคนี้ ที่มีต่อคุณภาพชีวิต จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายซึ่งได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย สื่อมวลชน และประชาชน


http://health.kapook.com/view18232.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก