วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7516 ข่าวสดรายวัน


เพกา


รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com


เห็นลูกเพกาขายในตลาด อยากทราบประโยชน์ของเพกาว่าเป็นสมุนไพรรักษาโรคอะไรบ้างครับ

Surawit

ตอบ Surawit


มี คำตอบจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับ"เพกา" และระบุสรรพคุณ "ยาร้อน แรงดี ต้านมะเร็ง ต้านหวัด แก้อักเสบ" เพกาเป็นผักที่คนไทยทุกภาคกินคล้ายกัน คือใช้ทั้ง ฝักอ่อน ดอก ยอดอ่อน กินเป็นผัก หรือปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู ทั้งมีความเชื่อว่ากินแล้วจะไม่เจ็บป่วย มีเรี่ยวแรงและบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งตามศาสตร์ตะวันออกอธิบายว่า เพราะเพกามีรสขมร้อน ขณะที่มีรายงานทางเภสัชวิทยาพบว่า เพกามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล การที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลนั้นก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จากนั้นอะไรๆ ก็ดีขึ้นเอง ซึ่งสรรพคุณนี้มีความคล้ายคลึงกับกระเทียม

ฝักอ่อนของ เพกาจะออกในต้นฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการหว่านข้าวกล้า ไถนา คราดนา การรับประทานฝักอ่อนของเพกาซึ่งมีรสขมร้อนก็จะทำให้ร่างกายอบอุ่น ต่อสู้กับอากาศที่ชื้นเย็นซึ่งนำพาโรคหวัด ไอ หอบหืดมากับฤดูฝน การที่ฝักเพกาเป็นยาร้อน คนท้องจึงกินไม่ได้เพราะจะทำให้แท้งได้ ว่ากันว่าเพกาเป็นยาที่ร้อนมาก เพียงแค่เผาฝักกินบนบ้าน ควายที่กำลังตั้งท้องก็อาจจะแท้งได้ ส่วนฝักเพกาที่แก่จะแตกออกแล้วเมล็ดที่มีปีกบางๆ สีขาวก็จะปลิวลอยล่องไปตามลมสวยงามมาก เมล็ดของเพกามีสรรพคุณตรงข้ามกับฝักอ่อน คือมีรสเย็น เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผสมอยู่ในน้ำจับเลี้ยงของจีน เป็นยาเย็นมีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ



และ จากความเชื่อของคนโบราณที่บอกว่ากินฝักเพกาแล้วจะทำให้ไม่เจ็บป่วยนั้น มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งคือ การวิจัยผักพื้นบ้านไทยของ เกศินี ตระกูลทิวากร จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผักทั้งหมด 48 ชนิด เพกาเป็นผัก 1 ใน 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งสูงสุด เนื่องจากในฝักเพกามีวิตามินสูงมาก และยังมีวิตามินเอ 8,221 มิลลิกรัมใน 100 กรัม พอๆ กับตำลึงทีเดียว เช่นเดียวกับการศึกษาพืชสมุนไพรในบังกลาเทศ พบว่าในพืชสมุนไพรพื้นบ้าน 11 ชนิด เพกาแสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งทุกชนิดสูงสุด รองลงไปคือมะตูม

นอกจาก นี้ยังมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในการแยกสารฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จากเมล็ดของเพกาเช่น chrysin, baicalein เป็นต้น พบว่าสารสกัดจากเปลือกรากมีฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้หมอพื้นบ้านจังหวัดปราจีนบุรี คุณตาส่วน สีมะพริก ยังบอกว่าเปลือกต้นหรือเปลือกรากของเพกาต้มกิน (ซึ่งจะต้มเดี่ยวๆ หรือต้มรวมกับแก่นซองแมว ซึ่งเป็นตำรับที่คุณตาต้มรับประทานเป็นประจำ) แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาฝีทั้งภายในภายนอก บำรุงร่างกายให้แข็งแรง

เพกา เป็นสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านใช้มากชนิดหนึ่ง ตั้งแต่ใบซึ่งเป็นยาเย็น เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาเขียว รสฝาดขม ต้มน้ำดื่มแก้ปวดข้อ ปวดท้อง เจริญอาหาร รากมีรสฝาดขมร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ขับเสมหะ ขับน้ำออกจากร่างกาย เป็นยาแก้ท้องร่วง ถ้าฝนกับน้ำปูนใสก็ใช้ทาแก้อักเสบฟกบวม ส่วนเปลือกต้นรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย ดับพิษโลหิต ต้มกิน หรือป่นเป็นผงทำเป็นลูกกลอน หรือใช้ผงกินกับน้ำ ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบเฉียบพลัน บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด ฝนกับสุรากวาดปากเด็ก แก้พิษซาง ผงเปลือกผสมขมิ้นชันเป็นยาแก้ปวดหลังของม้า เมล็ดต้มกินเป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

แทบจะกล่าวได้ว่าส่วนประกอบสำคัญในยาโพะ ยานึ่ง ยานั่ง ยาอาบ ยาประคบ ยาพอก ยาฝน รวมทั้งในตำรับของยากิน ทั้งยาต้ม ยาลูกกลอน ยาผง ของหมอยาทุกภาค ล้วนไม่เคยขาดเพกาเป็นส่วนประกอบเลย