นาวิกโยธิน

รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น


ขอทราบว่าใน นาวิกโยธินมีฝ่ายต่างๆทำ งานสอดรับปฏิบัติการรบได้สมบูรณ์แบบ

รั้วของชาติ (อนาคต)

ตอบ รั้วฯ


เข้า ใจว่าหมายถึงนาวิกโยธินไทยละนะ นาวิกโยธินไทยมีประวัติมานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังไม่มีคำว่านาวิกโยธิน แต่เรียกว่า "ทหารมะรีน" ทับศัพท์ Marine ในภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ทหารมะรีนตามความหมายของต่างประเทศหมายถึงเหล่าทหารเรือที่ปฏิบัติหน้าที่รบ อย่างทหารบก โดยประจำในเรือรบ ประจำตามป้อมค่ายของทหารเรือและตามฐานทัพเรือทั้งในและนอกประเทศ โดยที่ประจำในเรือรบสมัยเรือใบมีหน้าที่ยิงปืนใหญ่ และเมื่อเรือเข้าเทียบกันก็ขึ้นตะลุมบอนรบกันด้วยอาวุธสั้น ครั้นถึงสมัยเรือกลไฟก็ได้ใช้ทหารมะรีนลงประจำในเรือรบขนาดใหญ่ มีหน้าที่ประจำปืนใหญ่ และจัดเป็นกำลังสำหรับยกพลขึ้นบกเพื่อปฏิบัติการรบบนบกตามภาระหน้าที่ของ เรือนั้นๆ

สมัยรัชกาลที่ 5 ได้แบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก โดยทหารเรือในสมัยนั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือ ทหารเรือวังหน้า ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และที่สมุหพระกลาโหม นอกจากนั้นยังมีกรมเรือกลไฟของทั้งวังหน้าและสมุหกลาโหม ต่อมาเมื่อเรือกลไฟเพิ่มมากขึ้นจึงเรียกชื่อกรมว่า กรมอรสุมพล ครั้น พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เสด็จทิวงคต ทหารฝ่ายพระองค์ ได้ถูกยุบเลิก ทำให้ทหารเรือขณะนั้นมี 2 ส่วนใหญ่ คือกรมเรือพระที่ นั่งขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ส่วนกรมอรสุมพลขึ้นตรงกับสมุหพระกลาโหม มีกองเรือรบและเรือพระที่นั่งกลไฟและมีกองทหารบกสำหรับเรือรบ เรียกว่าทหารมะรีน



สมัย รัชกาลที่ 6กระทรวงทหารเรือได้ร่างข้อบังคับว่าด้วยการจำแนกพรรค เหล่า จำพวกและประเภทของทหารเรือขึ้น เมื่อวันที่1 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 คือทหารเรือพลรบ แบ่งเป็น 3 พรรค คือ พรรคนาวิน (ทหารประจำปากเรือ) พรรคกะลิน (ทหารประจำท้องเรือ) พรรคนาวิกะโยธิน (ทหารเรือฝ่ายบก) คำว่า "ทหารนาวิกะโยธิน" จึงเกิดขึ้นในกองทัพเรือ พร้อมคำว่า "นาวิน"และ"กะลิน" แต่ในปี 2476 ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบทหารเรือ ตลอดจนแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยการจำแนกพรรค เหล่า จำพวก และประเภททหารเรือขึ้นใหม่ โดยส่วนใหญ่เนื้อหาสาระคงรูปเดิม เพียงแต่ สระอะ ในคำว่า กะลิน และ นาวิกะโยธิน หายไป

สรุปความเป็นมาของทหารนาวิก โยธินไทยแบ่งได้ เป็น 3 ยุค คือ 1.ยุคเริ่มต้น (พ.ศ. 2376-2475) 2.ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476-2498) 3.ยุคใหม่(พ.ศ.2489- ปัจจุบัน) สำหรับยุคใหม่ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2498 กองทัพเรือได้สถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้งในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยใช้ตึกของกองกิจการพิเศษที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นที่ตั้ง และทหารนาวิกโยธินได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาหน่วยสืบมา จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยราชการของกองทัพเรือ เป็นผลให้กรมนาวิกโยธินแปรสภาพเป็นหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ปัจจุบัน ทหารนาวิกโยธินได้ถือเอาวันที่ 28 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันทหารนาวิกโยธิน" จากที่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราช ทานเพลงพระราชนิพนธ์ "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" เป็นเพลงประจำหน่วย และต่อมาคณะนายทหารนาวิกโยธินได้ร่วมกันประพันธ์คำร้อง

โดยทั่วไป ทหารนาวิกโยธินมีหน้าที่หลักในการยกพลขึ้นบกเพื่อยึดหัวหาด หรือการสถาปนากองกำลังบนบก เป็นหน่วยแรกที่เผชิญกับการต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามที่ป้องกันชายหาด มีการสูญเสียกำลังพลสูง เมื่อสถาปนากองกำลังได้แล้ว ทหารบกจะเคลื่อนพลขึ้นรับหน้าที่รบหลัก แต่ปัจจุบันนาวิกโยธินได้ถูกใช้เป็นกำลังรบหลักบนบกด้วย มีการฝึกหลักสูตรรบพิเศษลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ RECON ทำให้นาวิกโยธินถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกำลังรบหลักที่สำคัญของกองทัพ