กรมควบคุมโรคเร่งประชุมบุคลากรด้านวัคซีน หวังลดค่าใช้จ่ายนำเข้า 3 พันล้าน

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2554 15:42 น.
คร.เร่ง ประชุมบุคลากรด้านวิทยาการวัคซีน หวังลดภาระค่าใช้จ่ายนำเข้าจากต่างชาติ 3 พันล้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสชี้วัคซีนคอตีบยังเข้าไม่ถึงประชาชนพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนไอกรนต้องกระตุ้นซ้ำ แนะไทยต้องเร่งปรับปรุงระบบสื่อสารความเสี่ยงของโรค ย้ำหากยังล่าช้าอนาคตอาจต้องนำเข้าจากลาว-เวียดนาม
      
       วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.มานิต ธีรตันติกานนท์ อธิบดี กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการเป็นประธาน เปิดงาน “การประชุมวิทยาการวัคซีน ครั้งที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค. 2554 ที่ รร.วินเซอร์ สวีทส์ กทม.ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวาระแห่งชาติด้านวัคซีนให้ดำเนินการด้านดังกล่าว 10 โครงการในเวลา 10 ปีนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เริ่มโครงการแรก คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เป็นลำดับแรก โดยได้จัดประชุม อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการระหว่างบุคลากรด้าน สธ.ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านวัคซีนให้ไทยสามารถพึ่งตนเอง ได้ โดยขณะนี้ไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้เพียง 2 ชนิด คือ วัคซีนบีซีจี ป้องกันวัณโรคในเด็ก และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ที่เหลือยังคงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการพัฒนาที่เข้มแข็งขึ้นก็จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้
      
       ด้านศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านโรคติดเชื้อไวรัสขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ปัญหา การเกิดโรคที่ต้องจับตามองและต้องเร่งพัฒนาด้านวัคซีนให้ก้าวไกลมากขึ้น คือ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งแน่นอนว่ามีการรณรงค์ให้ฉีดในวัยเด็กแต่ขณะนี้พบว่า มีผู้ใหญ่ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องกระตุ้นซ้ำในวัยผู้ใหญ่ ขณะที่โรคคอตีบก็ยังน่าห่วงมากแม้จะมีวัคซีนก็ตาม แต่เนื่องจากพบว่าบางพื้นที่อย่างชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากประชาชนจึงยากจะเข้า ถึง โรคคอตีบจึงยังพบผู้ป่วยแบบกระจุกตัวโดยในปี 2553 สำนักโรคติดต่อทั่วไป คร.ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา มีผู้ป่วยสะสม 70 ราย ขณะที่ปี 2554 พบผู้ป่วยราว 14 ราย ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนด้วย


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากภาระเรื่องการกระตุ้นวัคซีนซ้ำและการเพิ่มการเข้าถึงของประชาชนแล้ว ไทยยังจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องการสื่อสารของวัคซีนด้วย เช่น กรณีวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น หลายคนเกิดความกังวลว่า จะป่วยเป็นโรคดังกล่าว จึงมีความพยายามอยากจะรับวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งในความจริงนั้นทั่วโลกมีการคิดค้นแค่วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีบางชนิด อันเป็นสาเหตุของโรคเท่านั้น ไม่ใช่วัคซีนป้องกันโรค
      
       “เท่าที่ทราบมานั้น จากสถานการณ์ทั่วโลกมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยราว 18 รายต่อวัน หากข้อมูลนี้เป็นจริงประเทศไทยควรที่จะเร่งตื่นตัวในการรับมือ โดยหน่วยงานหลักๆ ต้องหาข้อมูลมานำเสนอต่อสาธารณะแล้วประเมินผลความคุ้มค่าก่อนสื่อสารข้อมูล ออกสู่สาธารณะ เพราะโรคนี้เป็นโรคร้ายแรงใครๆก็กลัว หากประเมินพลาดคนตื่นตระหนกกันมากก็จะส่งผลต่อความต้องการวัคซีนและความมั่น คงทางสุขภาพมากขึ้น” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าว
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการคาดการณ์โรคมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องบรรจุวัคซีนป้องกันเอชพีวี เป็นวัคซีนพื้นฐานหรือยัง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว ว่า หากราคานำเข้ายังอยู่ในหลักพัน คงไม่จำเป็นต้องบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน เพราะความคุ้มค่าคงไม่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่มีสิ่งที่ หน่วยงานหลักๆ อย่าง สธ.ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1 ประเมินจากภาระโรคที่กระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขว่า ผู้ป่วยในประเทศมีจำนวนเท่าใด แล้วต้องเสียเงินรักษามากเพียงใด 2.ประเมินความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเองว่า ร่างกายและจิตใจสามารถทนรับสภาพของโรคได้แค่ไหน 3.ประเมินว่าข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องกระจายความรู้เรื่องความ เสี่ยงแก่ประชาชนอย่างไรบ้าง จึงไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะนำเข้าหรือไม่ เพราะวัคซีนชนิดนี้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ หากประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจตรงนี้แล้วฉีดไม่ถูกตามขั้นตอนก็ไร้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นยังล่าช้าเรื่องการพัฒนา วัคซีนอย่างมาก โดยขณะนี้ต้องนำเข้าจากอินเดีย อินโดนีเซีย คาดว่าหากไม่เร่งพัฒนาโดยเร็วในอนาคตคงต้องนำเข้าจากลาว และเวียดนาม ดังนั้นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้รู้เท่าทันโรคต่างๆมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือ หากพบว่า โรคใดมีการระบาดแบบกระจุกตัว ก็ต้องเร่งคิดค้น เพราะวัคซีนแต่ละชนิดต้องอาศัยเวลาในการพัฒนานานนับ 10 กว่าจำเป็นที่ยอมรับเวลาก็ผ่านไปราว 30 ปี เช่น กรณีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษานั้นก็นานพอสมควร
credit http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000085665