คนไทยไม่ห่วงหัว! สสส.เผยใช้ “กันน็อก” แค่ 44%

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 กรกฎาคม 2554 15:01 น.
สสส.เผยผลสำรวจคนไทยไม่ห่วงหัว สวมหมวกกันน็อกแค่ 44% กทม.แชมป์สวมหมวกกันน็อกมากสุด นราธิวาสรั้งท้าย ชี้คนไทยตายจากมอเตอร์ไซค์ชั่วโมงละ 1 ราย ผนึกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เร่งรณรงค์สร้างการรับรู้อันตรายทุกพื้นที่ สสส.เริ่มสำรวจอัตราสวมหมวกกันน็อก วัดผล “ปีรณรงค์หมวกนิรภัย 100%”
      
       วันนี้ (13 ก.ค.). โดย ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าว  “ปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%” ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ สสส.และภาคีเครือข่าย เช่น  คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนใน จังหวัดนำร่อง (สอจร.) มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดขึ้นที่โรงแรมมารวยการ์เด้น  กทม.ว่า  ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกของทศวรรษความปลอดภัยทางถนน เป็นปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% นั้น สสส.ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) ได้จัดให้มีการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยผู้ใช้จักรยานยนต์ ประจำปี 2553 ช่วงเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2553 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของมาตรการดังกล่าว จากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจำนวน 954,956 คน พบว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเฉลี่ย 44% แบ่งเป็น ผู้ขี่จักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 53% และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย 19% จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เลย สมุทรปราการ และนนทบุรี    ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เพชรบุรี อ่างทอง พังงา ปัตตานี และนราธิวาส เหตุผลสำคัญที่ไม่สวมหมวก คือ 1.เดินทางระยะใกล้ 2.ไม่ออกถนนใหญ่ 3.เร่งรีบ 4.ร้อนอึดอัด สกปรก 5.กลัวผมเสียทรง 6.ไม่มีที่เก็บ กลัวหาย 7.ตำรวจไม่จับ 8.ไม่มีหมวกนิรภัย 9.คิดว่าคงไม่เกิดอุบัติเหตุ และ10.คนที่นั่งมาด้วยก็ไม่สวม
      
       ดร.สุปรีดากล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมาในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตทางถนน 10,742 คน ในจำนวนนี้ 70-80% เกิดจากการขับขี่และซ้อนท้ายจักรยานยนต์ เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 29 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกราวแสนราย โดย 6% ของผู้บาดเจ็บต้องกลายเป็นคนพิการ หมายถึงทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน อย่างไรก็ตาม พบว่าการสวมหมวกนิรภัยช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บรุนแรงได้ 72% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 39% ผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัยมีอัตราตายจากการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะน้อยกว่า ผู้ไม่สวมหมวก 43% และผู้ซ้อนท้ายที่สวมหมวกมีอัตราตายน้อยกว่าผู้ไม่สวมหมวก 58% ทั้งนี้ ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%
      
       “ทั้งนี้ รัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย อย่างเข้มงวด พัฒนามาตรฐานหมวกนิรภัยให้มีทั้งความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของ ประเทศไทย ได้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว  โดยจะครบรอบปีในเดือนมกราคมปี 2555 ทาง สสส.และมูลนิธิไทยโรดส์จะเริ่มการสำรวจอัตราการสวมหมวกกันน็อกในทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทยอีกรอบหนึ่งตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกับสถิติปีที่แล้วว่าจังหวัดใดมีพัฒนาการเรื่องการ สวมหมวกกันน็อกของประชาชนเพิ่มขึ้นหรือถดถอยลงอย่างไร” ดร.สุปรีดากล่าว
      
       พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มาตรการของ จ.ภูเก็ต ใช้วิธีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรับทราบอันตรายจากการไม่สวมหมวก นิรภัย โดย 3 เดือนแรกเน้นการตักเตือน อบรม ก่อนเริ่มใช้กฎหมายเข้มงวด และได้มีการลงนามร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หากผู้ที่ถูกจับมาจากหน่วยงานที่ลงนามร่วมกันไว้ จะมีการส่งชื่อแจ้งการทำผิดให้หน่วยงานต้นสังกัดมีใช้มาตรการลงโทษของตัวเอง ทั้งนี้จะใช้เวลา 1 ปี ในการสร้างจิตสำนึกว่าการสวมหมวกนิรภัยไม่ใช่สวมเพื่อไม่ให้ตำรวจจับ แต่สวมใส่เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว
      
       นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จ.อุดรธานีเคยมีสถิติประชาชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 800 กว่าคนในช่วง 10 ปีก่อน จึงเริ่มมีการสร้างเครือข่ายลดอุบัติเหตุ รณรงค์ทั้งท้องถิ่น ชุมชน โรงงาน โรงเรียน ปัจจุบันยอดการเสียชีวิตลดลงต่ำกว่าปีละ 300 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครอุดรธานี เคยลดการเสียชีวิตในพื้นที่จากปีละประมาณ 50 ศพ เหลือเพียง 4 ศพ จากที่เคยเป็นจังหวัดรองแชมป์ไม่สวมหมวกนิรภัย ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ
      
       นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร.กล่าวว่า จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ กทม. และปริมณฑล มีสาเหตุจากความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ส่วนจังหวัดรองลงมาเป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเอาจริง มีผู้รับผิดชอบที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ การสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัย อีกครั้งในปีนี้และนำผลไปเปรียบเทียบอัตราในปีที่ผ่านมาจะทำให้แต่ละจังหวัด นำไปปรับปรุงแผนการดำเนินงาน และสร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดการปรับตัวต่อไป
credit http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000086210