ผวา โรคพิษสุนัขบ้า ระบาด จตุจักร ออกกฎ 4 ข้อคุม


ผวาโรคพิษสุนัขบ้าระบาด จตุจักรออกกฎ4ข้อคุม เตือนใครซื้อหมาจากร้าน"เทคแคร์" รีบหาสัตวแพทย์ด่วน! (มติชน)

           ผวา โรคพิษสุนัขบ้าระบาด จตุจักรออกกฎ 4 ข้อคุมการซื้อขายสัตว์เลี้ยง กทม.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจร้านค้า แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกัน ยึดสุนัข 5 ตัวจากบ้านข้าราชการสาธารณสุขที่เสียชีวิตไปกักกันโรค เก็บตัวอย่างเลือดตรวจหาเชื้อ หากพบต้องทำลายทิ้งทันที

           นายบุญรอด พัฒนไพศาล ปศุสัตว์อำเภอ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ กรณีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และเจ้าของร้านขายสุนัข "เทคแคร์ เพ็ท ช็อป" ตลาดนัดจตุจักร โครงการ 15 ซอย 10/5 เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากถูกสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ ที่รับมาจากฟาร์มสุนัขใน จ.เชียงใหม่ เพื่อนำมาขายกัด ว่าเจ้าหน้าที่กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย(สนอ.) กทม.ได้เข้าตรวจสอบบ้านพักของผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนำสุนัข 5 ตัว ไปกักกันโรคที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ เป็นเวลา 6 เดือน ประกอบด้วย พันธุ์ร็อตไวเลอร์ เพศเมีย อายุ 3 ปี 1 ตัว พันธุ์พุดเดิ้ล เพศผู้ อายุ 4 ปี 1 ตัว พันธุ์โกเด้นรีทรีฟเวอร์ เพศเมีย อายุ 2 เดือน 2 ตัว และพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด เพศผู้ อายุ 2 เดือน 1 ตัว

           "ระหว่าง กักกัน เจ้าหน้าที่จะนำสุนัข 1 ใน 5 ตัว ที่สามีผู้เสียชีวิตอ้างว่า ฉีดวัคซีนแล้วไปตรวจโรค เพื่อดูว่ามีภูมิต้านทานโรคหรือไม่ ส่วนตัวที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากพบว่าติดเชื้อจะทำลายทิ้งทันที" นายบุญรอด กล่าว

           ด้านสัตวแพทย์หญิง(สพญ.)จันทรา สิงห์ชัย ผู้อำนวยการกองสัตวแพทย์สาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ประชานิเวศน์ เขตจตุจักร และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ กทม. เขตบางซื่อ เข้าตรวจสอบ และให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยง ในตลาดนัดจตุจักรโครงการ 15 แหล่งค้าสัตว์เลี้ยงนานาชนิด และที่ตั้งร้าน "เทคแคร์ เพ็ท ช็อป" แต่เนื่องจากเป็นวันศุกร์ร้านค้าส่วนใหญ่ยังปิดทำการ

           สพญ.จันทรา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ กทม.ยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ซื้อสุนัขจากร้านดังกล่าวไปเลี้ยงได้ เพราะร้านไม่มีการบันทึกข้อมูลลูกค้า และสามีไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคในการแสวงหาข้อมูลอย่างมาก

           "เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น ทำให้ สนอ.ต้องรณรงค์แนะนำให้ผู้ค้าสุนัข และประชาชนที่ซื้อสุนัขไปเลี้ยงต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีน แต่กรณีนี้ทราบว่า ผู้เสียชีวิตเลี้ยงสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์มา 3 ปี และเป็นผู้ฉีดวัคซีนให้สุนัขด้วยตัวเอง" สพญ.จันทรา กล่าวต่อว่า "จาก การลงพื้นที่พบว่า ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยงในตลาดจตุจักรส่วนใหญ่นำสุนัขอายุเพียง 1 เดือน มาจำหน่าย และสุนัขวัยนี้ยังไม่ถึงกำหนดฉีดวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จะฉีดกับสัตว์ที่มีอายุประมาณ 3 เดือนขึ้นไป"

           นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายสุนัขและสัตว์อื่นๆ ที่ลงทะเบียนในโครงการ 15 จำนวน 200 ร้านเศษ และยังมีกระจายอยู่ในโครงการอื่นๆอีก ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจำนวนที่ชัดเจน ทั้งนี้ สนอ.ได้แนะนำและให้มาตรการควบคุมดูแลร้านจำหน่ายสุนัข 4 ข้อ คือ

           1. ต้องตรวจสอบทะเบียนว่า ผู้ค้าสัตว์มีทะเบียนค้าหรือไม่

           2. การซื้อขายในตลาดต่อไปนี้ จะต้องแจ้งข้อมูลสุนัขที่ขายไปว่า ขายให้ใคร ที่ไหน อย่างไร หรือจัดทำบัญชีชื่อ ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อที่ชัดเจน เพื่อสามารถตรวจสอบในภายหลังได้

           3. ให้ตลาดนัดจตุจักรเรียกประชุมร้านขายสุนัขในโครงการทั้งหมด เพื่อรับทราบถึงพฤติกรรมการนำเข้าสุนัขว่า มาจากไหน อย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลไว้สำหรับป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น และสะดวกในการควบคุม

           4. ห้ามไม่ให้มีการขายสุนัขบนถนนอย่างเด็ดขาด

           ทั้งนี้วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.30 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.จะลงพื้นที่ตรวจตลาดนัดจตุจักร โดยจะมีการนำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปฉีดให้กับสุนัขในโครงการ 15 และพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

           ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ข้าราชการ สธ.ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเข้าใจว่าฉีดวัคซีนในสัตว์แล้ว จึงไม่น่าเป็นอะไร เมื่อถูกกัดจึงไม่ไปพบแพทย์ฉีดวัคซีน ทำให้เสียชีวิต ซึ่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า รวม 6 ราย

           "อยากฝากเตือนประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสุนัขและแมว ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า โดยกรมปศุสัตว์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการฉีดวัคซีนให้ แต่บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้เลี้ยงสุนัขและแมว รวมถึงผู้ค้า หากถูกสัตว์ข่วนหรือกัดจนเป็นแผล ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนทันที ซึ่งโรงพยาบาล สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุข ทั่วประเทศ พร้อมให้บริการฟรี"นายจุรินทร์ กล่าว  และว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ ติดตามขยายผลฟาร์มสุนัขที่ผู้เสียชีวิตได้รับมาจำหน่าย พร้อมให้คำแนะนำผู้ประกอบการ หรือมีการเลี้ยงสุนัขเป็นจำนวนมากให้ฉีดวัคซีนป้องกัน

           นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2552 มีข้อสังเกตพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า เกิดในพื้นที่ซ้ำเดิมใน 4 เขตของ กทม.คือ หนองจอก ลาดกระบัง บางขุนเทียน และวังทองหลาง โดยพบผู้เสียชีวิตซ้ำในเขตเดียวกันถึง 7 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดรองจาก กทม.คือ กาญจนบุรี 4 ราย โดย 3 ราย อยู่ในเขต อ.เมือง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าร้อยละ 77.50 ของสุนัขที่กัดและแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ มีเพียงร้อยละ 13.75 เท่านั้นที่เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ ขณะที่แมวเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของสัตว์ที่กัดแล้วแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

           ด้านสาธารณสุขเชียงใหม่ ปฏิเสธฟาร์มหมาเชียงใหม่ ต้นต่อโรคพิษสุนัขบ้า ทำคนเลี้ยงติดเชื้อตาย

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทันตแพทย์สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ว่า ได้รับการประสานงานมาจากส่วนกลางเรื่องนี้แล้ว และได้ประสานไปยังปศุสัตว์ จ.เชียงใหม่ ให้ช่วยเข้าไปตรวจสอบแหล่งผลิตสุนัขหรือฟาร์มสุนัขในเขต อ.สันทราย และ อ.ดอยสะเก็ด รวมทั้งตลาดจำหน่ายสุนัขแหล่งใหญ่บริเวณสวนบวกหาด (สุสานหายยา) อ.เมือง เพื่อตรวจสอบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม ที่ผ่านมามีสุนัขตายลงหรือไม่

           "ยอม รับว่าคงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก เพราะบุคคลที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ถูกกัดตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทเราได้ขอให้มีการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า" รองสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าว

           นสพ.สมพร พรวิเศษศิริกุล หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ ปศุสัตว์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หากดูข้อมูลที่ออกมาจะเห็นว่า มีการซื้อขายแม่พันธุ์สุนัขไปตั้งแต่ 3 ปีแล้ว เชื้อโรคไม่น่าจะอยู่นานขนาดนั้น เนื่องจากปกติการรับซื้อสุนัขไปจำหน่ายจะมีเกณฑ์อายุที่ 45 - 60 วัน และระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ 3 - 12 สัปดาห์ หากจะติดโรคก็น่าจะติดที่กรุงเทพฯ จากสุนัขตัวอื่นไม่น่าจะเป็น สุนัขร๊อตไวเรอร์อายุ 3 ปี จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับสุนัขที่มาจากฟาร์ม จ.เชียงใหม่ ตามที่เป็นข่าว เพราะทราบว่าผู้เสียชีวิตเลี้ยงสุนัขจำนวนมากหากหลายพันธุ์ อาจมีเชื้อสุนัขติดมาจากการกัดแทะแกะเกาในยามมีแผลถลอก โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

           "เท่าที่ไปตรวจสอบฟาร์มที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ร๊อตไวเรอร์ใน จ.เชียงใหม่ พบว่าเขาเลิกเลี้ยงไปนานแล้ว และยังไม่พอรายงานการเสียชีวิตของสุนัข แต่เพื่อความไม่ประมาทได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการจำนวน 10 - 20 ราย ที่มีฟาร์มเลี้ยงสุนัขในพื้นที่ส่งไปขายกรุงเทพฯ มาประชุมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อชี้แจงการฉีดวัคซีนและระบบการเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างถูกวิธี และซักซ้อมความเข้าใจในกฎระเบียบอีกครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง แต่ก็มีปัญหาในเรื่องระเบียบการจดทะเบียนผู้ประกอบการไม่มี ทำให้ควบคุมยาก" นสพ.สมพร กล่าว

           ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ จ.เชียงใหม่ มีข้อมูลการเสียชีวิตล่าสุดด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2549 ที่ อ.อมก๋อย จำนวน 2 ราย และมีการตรวจพบเชื้อจากการตัดหัวสุนัขในพื้นที่ อ.สันทราย ไปตรวจเมื่อปี 2551 ซึ่งวิธีนี้ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก


http://health.kapook.com/view10466.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก