รับมือ 5 โรคฤดูหนาว


โรคหน้าหนาว

รับมือ 5 โรคฤดูหนาว (Lisa)

          ฤดู หนาวอาจฟังดูเย็นสบาย แต่ความจริงก็คือยังมีเชื้อโรคที่อาจเข้ามาทำลายสุขภาพของเรา โดยเฉพาะปอดบวม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และท้องร่วงที่พบได้บ่อย แถมยังมีศัตรูตลอดกาล อย่าง "หวัด" เข้ามาอีกด้วย มาทำความรู้จักกับวิธีป้องกันก่อนที่หนาวนี้จะทำร้ายเราถึงขั้วหัวใจ

          กรมอุตุนิยมวิทยาเผยว่า ปีนี้เมืองไทยเราจะหนาวที่สุดในรอบ 30 ปี แต่ภัยที่มากับความหนาวไม่ใช่แค่ลมเย็นยะเยือก แต่ยังรวมถึงเชื้อโรคที่กระจายตัวพร้อม ๆ กับลมหนาวอีกด้วย และนี่คือโรคที่กรมควบคุมโรคแนะนำให้คนไทยดูแลตัวเองดังนี้

1.ปอดบวม

          อีกหนึ่งโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปี 2552 อยู่ที่มากกว่า 239.000 คน ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึง 14,542 คน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2543-2552) และนับเป็นโรคที่อันตรายโดยเฉพาะกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วพบเด็กป่วยมากกว่า 30,000 คน เสียชีวิต 17 คน

          โรคปอดบวมนั้นอาจเกิดจากอาการแทรกซ้อนของหวัด หรืออาจเป็นการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง มีระยะเวลาฟักตัว 1-3 วัน หากมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจแรง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด่วน

          วิธีป้องกัน คล้ายกับโรคหวัดคือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วย

2.หัด

          ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งก็คือเราอาจคิดกันว่า "เด็ก ๆ ต้องออกหัดทุกคน" ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย โรคหัดเกิดจากไวรัสหัดซึ่งติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านการไอ จามรดกัน โดยตรง แม้ว่าจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่กับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นหัดมาก่อน หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนก็อาจเป็นหัดได้

          โรคหัดมีระยะฟักตัว 8-12 วัน หลังจากนั้น จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นขึ้นกระจายไปทั่ว และจางหายเองใน 14 วัน บางรายอาจมีปอดบวม ท้องร่วง ช่องหูอักเสบ หรือสมออักเสบร่วมด้วย จนทำให้เสียชีวิตได้

          วิธีป้องกัน ฉีดวัคซีน เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตอนอายุ 9-12 เดือน ส่วนครั้งที่ 2 อายุ 6-7 ขวบ

3.หัดเยอรมัน

          เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสเสมหะน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หากสตรีมีครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันภายใน 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ มีโอกาสสูงที่ทารกจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อย่างเช่น หูหนวก ปัญญาอ่อน

          อาการของหัดเยอรมันอาจทำให้มีไข้ และออกผื่นหัด ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอื่น บางรายมีโรคแทรกซ้อน อย่างเช่น ข้ออักเสบ สมองอักเสบ ในเด็กเล็กจะมีอาการเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาการอาจจะมีอยู่ ประมาณ 1-5 วัน จึงควรหยุดงานประมาณ หนึ่งสัปดาห์ด้วย

          วิธีป้องกัน สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หัดเยอรมัน อาจขอฉีดวัคซีนรวม MMR ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม

4.อีสุกอีใส

          ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง หรือการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายเข้าไปเช่นเดียวกับหัด หรือจากการสัมผัสตุ่มพองใสบนผิวหนังของผู้ป่วย และการใช้ภาชนะ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย

          อาการเริ่มต้นจากมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า และตามลำตัว ทีแรกจะเป็นตุ่มแดง ๆ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับจากวันที่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ด โดยทั่วไปจะไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่บางคนอาจมีอาการทางสมองและปอดบวมได้

          วิธีป้องกัน เหมือนกับไข้หวัดและหัด คือไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย

5.ท้องร่วง

          อาการท้องร่วงในฤดูหนาวมักเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภัยน้ำท่วมในปีนี้ โรคท้องร่วงจึงเป็นอีกภัยหนึ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน นอกจากนี้ อาจติดต่อผ่านทางน้ำมูกหรือน้ำลาย ไม่เฉพาะทางอาหารเท่านั้น ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวหรือถึงชั้นเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจคลื่นเหียนอาเจียน มีไข้ขึ้น มีเลือด เมือก หรืออาหารที่ไม่ย่อยปนออกมากับอุจจาระ

          สำหรับคนที่ท้องร่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือถ่ายเป็นน้ำติดต่อกันสามครั้ง แล้วยังไม่ได้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทน อาจมีอาการขาดน้ำปรากฏร่วมด้วย อย่างเช่น ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็วและถี่ ปวดศีรษะ ผิวแห้ง มึนงง ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์ด่วน

          อากาศ ที่เปลี่ยนไปกะทันหัน อาจทำให้ร่างกายปรับสุขภาพไม่ทันก็จริง แต่หากเราดูแลตัวเองดี ๆ เชื้อโรคทั้งหลายก็จะไม่สามารถมาย่างกรายเราได้ ขอให้มีความสุขและสุขภาพดีกับฤดูหนาวนะคะ


คิดว่ารู้จัก "หวัด" ดีพอแล้วหรือ ?

ลองทดสอบความรู้เกี่ยวกับหวัดและไข้หวัดใหญ่ดูหน่อย

1.คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว รู้สึกอ่อนเพลีย คุณอาจจะเป็น :

          A.หวัดธรรมดา
          B.ไข้หวัดใหญ่
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

2.ไอนิดหน่อย แต่ไม่มีไข้ ที่เป็นอยู่ก็คือ :

          A.หวัดธรรมดา
          B.ไข้หวัดใหญ่
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

3.คุณรู้สึกปวดหู ดังนั้น อาจจะเป็น :

          A.หูอักเสบ
          B.หวัดธรรมดา
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

4.ไม่มีอาการปวดเมื่อยแล้ว แต่ก็ยังไงต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สงสัยจะเป็นหวัดธรรมดาอยู่ ใช่มั้ย?

          A.ใช่
          B.ไม่ใช่
          C.ไม่แน่ใจ

5.ทำอย่างไร ถ้าผ่านไปสามวัน แล้วอาการหวัดมีแต่แย่ลง

          A.พักผ่อนให้มากขึ้น
          B.ไปพบแพทย์
          C.ซื้อยาจากร้านขายยา

เฉลย

          1.คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว รู้สึกอ่อนเพลีย คุณอาจจะเป็น : ได้ทั้งสองอย่างทั้งหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่อาจทำให้คุณปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และมีน้ำมูก ทั้งสองโรคนั้นติดต่อไปหาคนอื่นได้ง่ายมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก และจามบ่อย ๆ ก็ควรอยู่บ้านดีกว่าออกไปทำงาน

          2.ไอนิดหน่อย แต่ไม่มีไข้ ที่เป็นอยู่ก็คือ : หวัดธรรมดา อาการไข้หวัดใหญ่หายที่พบได้ทั่วไปก็คือ มีไข้และไอ บางครั้งอาการไอก็จะรุนแรงเสียด้วยซ้ำ แต่น้อยครั้งที่คุณจะมีไข้สูงเพราะหวัดธรรมดา 2-3 วันแรกอาจจะมีอาการ อย่างเช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ซึ่งแพร่กระจายให้คนอื่นได้ง่ายมาก

          3.คุณรู้สึกปวดหู ดังนั้น อาจจะเป็น : ได้ทั้งสองอย่าง หวัดธรรมดาอาจทำให้คุณมีน้ำมูกและนำไปสู่อาการปวดหูได้ แต่ในกรณีที่โชคร้าย มันอาจทำให้หูชั้นในติดเชื้อแบคทีเรีย หากคุณเจ็บหูจริง ๆ คุณอาจจะมีอาการหูอักเสบ ซึ่งมักไม่ค่อยหายเอง ดังนั้น ไปพบแพทย์จะดีกว่า

          4.ไม่มีอาการปวดเมื่อย แต่ก็ยังไอต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สงสัยจะเป็นหวัดธรรมดาอยู่ใช่มั้ย? : ใช่ หวัดธรรมดาส่วนใหญ่จะหายไปใน 4-7 วัน แต่ก็อาจยืดออกไปถึง 2 สัปดาห์ โดยที่ยังไออยู่ แม้ว่าจะรู้สึกอ่อนเพลียหน่อย ๆ แต่ก็จะไม่แพร่เชื้ออีก ดังนั้น หลังจากกินยาแก้ไอหรือยาแก้แพ้ตามคำแนะนำของแพทย์ คุณก็พร้อมจะออกจากบ้านแล้ว

          5.ทำอย่างไร ถ้าผ่านไปสามวันแล้วอาการหวัดมีแต่แย่ลง : ไปพบแพทย์ ถ้าผ่านไปสามวันแล้วอาการแย่ลง คุณอาจมีอาการแทรกซ้อน อย่างเช่น การติดเชื้อ แบคทีเรีย ดังนั้น อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์หากคุณมีไข้สูง รู้สึกปวดหู ปวดศีรษะ ไซนัส และไอหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นรวมด้วย อย่างเช่น หอบหืด และจนกว่าจะรู้ว่าป่วยเป็นอะไรกันแน่ก็จงอยู่บ้าน

www.kapook.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.44 10 พฤศจิกายน 2553