สธ. เตือนอากาศร้อน 6 กลุ่มเสี่ยงพึงระวัง





สธ. เตือนอากาศร้อน 6 กลุ่มเสี่ยงพึงระวัง (ไอเอ็นเอ็น)

         กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยที่มากับแดดแรง อากาศร้อน 6 กลุ่มเสี่ยง ต้องระวัง

         กระทรวง สาธารณสุข เตือน ภัยที่มาพร้อมกับแดด อากาศร้อน ได้แก่ โรคลมแดด โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด โรคผิวหนังไหม้แดด ซึ่งกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน คนที่ออกกำลังกายใช้แรงเกินพิกัด เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง แนะนำการป้องกันให้ดื่มน้ำ 6 - 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน ยิ่งดี งดดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อผ้าเบาสบาย สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป

         สำหรับโรคลมแดด นั้น มีอาการผิวหนังจะแดง ร้อน แห้ง อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรง คลื่นไส้ การช่วยเหลือผู้ป่วยประเภทนี้ ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือ แช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้และรีบนำส่งโรงพยาบาล

         ส่วนโรคเพลียแดด มีอาการเหงื่อออกมาก ปวดหัว คลื่นไส้ มีอาการเหนื่อย หรือ เป็นลม ผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีอุณหภูมิสูงเกิน 37 องศาฯ แต่ไม่เกิน 40 องศาฯ ในการช่วยเหลือ ให้ดื่มน้ำเย็น เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือ ให้อยู่ในสถานที่ ที่มีเครื่องปรับอากาศ สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย

         สำหรับโรคตะคริวแดด มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดด หรือ ออกกำลังกายหักโหมขณะที่มีอากาศร้อน จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อเกร็ง ในการช่วยเหลือผู้ป่วยประเภทนี้ จะต้องให้หยุดการใช้แรงทันที เมื่อดีขึ้นแล้ว ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือ

         ส่วนผิวหนังไหม้แดด เป็นอาการที่เบาที่สุด ผิวหนังจะเป็นรอยแดง ปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อยหลังถูกแดด ซึ่งโดยทั่วไป อาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในการดูแลหากผิวหนังไหม้แดด ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น ทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้

         อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าห่วงคือเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงอากาศร้อน บางกลุ่มนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เย็น ๆ เพื่อคลายร้อนในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะทำให้สูญเสียน้ำทางเหงื่อและปัสสาวะได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อาจช็อคหมดสติได้เช่นกัน


http://health.kapook.com/view25945.html