อึ้ง! วัยรุ่นไทยใช้ยาคุมฉุกเฉิน พุ่ง 8 ล้านแผงต่อปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2554 15:37 น.
       อึ้ง! วัยรุ่นไทยใช้ยาคุมฉุกเฉินพุ่ง 8 ล้านแผงต่อปี กพย.-สสส.ผนึกกำลังภาคีเร่งรณรงค์ให้ความรู้ ทำสื่อ Love alert ป้องกันท้องไม่พร้อม และใช้ยาคุมฯ พร่ำเพรื่อ ขณะที่กรมอนามัยระบุผลสำรวจปี 51 วัยรุ่น 13-25 ปีใช้ยาคุมฉุกเฉิน 30%
      
       วันนี้ (11 ก.ค.) ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้ จัดการแผนงานสร้างกลไกการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ฉุกคิดก่อนใช้ ป้องกันท้องไม่พร้อมจริงหรือ? : ข้อเท็จจริงที่หลายคนยังไม่รู้” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม.ว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายวิชาการและบุคลากร ด้านสุขภาพเกี่ยวกับข้อมูลของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน พบว่ายังมีหลายกรณีที่น่ากังวล โดยเฉพาะข้อมูลจากร้านขายยาที่พบว่ามีการซื้อยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไปใช้ราวปี ละ 8 ล้านแผง หรือราว 2 หมื่นแผงต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ อีกทั้งยังพบว่า วัยรุ่นนั้นมีความเข้าใจผิดเรื่องการใช้ยาดังกล่าวอย่างมาก เช่น เข้าใจผิดว่ายานี้คุมกำเนิดได้ 100% ทั้งที่ในความเป็นจริงประสิทธิภาพของยาคลาดเคลื่อนได้ คือ อาจแปรผลเป็น 70-90% และหลายคนเชื่อว่า ยาคุมฉุกเฉินสามารถใช้ได้ทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในความจริงเพื่อความปลอดภัยไม่ควรที่จะทานเกิน 2 แผงต่อเดือนต่อคน
      
       ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าการบริโภคยาดังกล่าวแบบพร่ำเพรื่อแล้ว ยังมีวัยรุ่นบางรายมีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการกินยา และมักตีความหมายข้อบ่งชี้การใช้ยาตามที่ฉลากระบุผิดไป เพราะโดยทั่วไปยา 1 แผงจะมีตัวยาอยู่ 2 เม็ด และต้องแบ่งเวลาในการทานให้ถูกต้องตามข้อบ่งชี้ คือ เม็ดแรกทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์หรืออย่างน้อย 3 วัน เม็ดที่ 2 ทานหลังจากเม็ดแรก 12 ชม. แต่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน บางคนก็ทานคู่กัน ขณะที่บางคนทานไม่ตรงต่อเวลา ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงไปด้วย ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยามหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดและพยายามนำ เสนอข้อมูลที่ถูกต้องออกเผยแพร่แก่ประชาชน
      
       “ในส่วนของข้อมูลนั้นเราพยายามนำเสนอสื่อที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำสื่อความรู้ชุด VDO ชุดความรู้ Love alert รณรงค์ให้ความรู้การใช้ยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และถุงยางอนามัย ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และถ้าเป็นไปได้เราจะนำเสนอข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ต่อหน่วยงานภาครัฐให้มีการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการระบบยา อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาจจะมีการปรับปรุงเรื่องของการเปิดโอกาสให้มียาคุมฉุกเฉินแบบรวมฮอร์โมนใน 1 เม็ดเพื่อสะดวกต่อการรับประทาน เหมือนอย่างสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา” ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าว
      
       ด้าน รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวช คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยไม่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ตนเคยตรวจพบคนไข้รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นประจำเดือนละ 4-5 กล่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินพบว่า ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพคุมกำเนิด 50-90% กลไกการทำงานของยาไปยับยั้งหรือยืดเวลาการตกไข่ออกไป ดังนั้นจึงควรกินยาก่อนไข่ตก จะป้องกันตั้งครรภ์ได้ 80% แต่หากกินยาหลังตกไข่แล้ว ยาจะไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้นอย่าเข้าใจผิดคิดว่าใช้แทนยาคุมกำเนิดปกติ หรือใช้บ่อยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
      
       “ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรกินเฉพาะกรณีถุงยางแตก หรือพลาดพลั้งมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยควรกินยาภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด หรือภายใน 120 ชั่วโมง สามารถรับประทาน 2 เม็ดได้พร้อมกัน ยิ่งกินยาเร็วขึ้นก็จะมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีสูง เพราะยามีฮอร์โมนปริมาณสูง ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มีเลือดออกมากว่าปกติ หรือขาดประจำเดือนไปเลย 30% คลื่นไส้ ปวดท้อง 20% ทั้งนี้ การให้คำแนะนำของบุลากรด้านสุขภาพก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะประชาชนไม่ต้องการรับฟังมากนัก จึงเป็นปัญหาที่ควรรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในช่องทางต่างๆ“ รศ.นพ.อรรณพกล่าว
      
       ด้าน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า จากการรวบรวมการ การศึกษาวิจัย และจากที่กรมอนามัยทำการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2551 พบว่า คนส่วนใหญ่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในทางที่ผิด โดยเข้าใจว่ากินเหมือนยาคุมกำเนิดปกติ ซึ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 13-25 ปี กินเพื่อคุมกำเนิดถึง 30% และเป็นการซื้อจากร้านขายยา และที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ 40-50% ไม่มีการป้องกันขณะที่มีเพศสัมพันธ์เลย ซึ่งแนวโน้มของผู้ป่วยโรคทางเพศสัมพันธ์มีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี
      
       ทั้งนี้ โรงเรียน สถาบันการศึกษา หรือผู้สนใจขอรับสื่อความรู้ดังกล่าว สามารถโทร.ติดต่อได้ที่ 0-2218-8452 หรือ spr.chula@gmail.com

credit  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000085105