รู้จักอาการ มะเร็งโคนลิ้น



มะเร็งโคนลิ้น
มะเร็งโคนลิ้น


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก saintmedical.com 

          หลังจากที่อดีตดารานางแบบดัง "ลินดา ค้าธัญเจริญ" ป่วย เป็นมะเร็งโคนลิ้น โดยมีเลือดไหลไม่หยุดออกมาจากช่องปาก และแม้ว่าตอนแรกญาติพาไปให้โรงพยาบาล 2 แห่งช่วยตรวจแล้ว แพทย์บอกไม่ได้เป็นอะไร แต่แล้วอาการก็กำเริบ มะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ ทำให้พูดไม่ได้และมีเลือดออกที่คอตลอดเวลา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกัดลิ้นตัวเอง จนสุดท้ายญาติตัดสินใจพาไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งหมอก็ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจแบบละเอียด ผลออกมากลายเป็นเนื้อร้าย และเข้ารักษาการผ่าตัดแล้ว

          อย่างไรก็ตามหลังจากที่หลายคนรู้เกี่ยวกับ อาการป่วยของ ลินดา แล้วนั้น ก็ทำให้หลาย ๆ คนหวั่นวิตกว่าจะเป็นมะเร็งโคนลิ้นหรือไม่ เพราะบางทีที่คอมักจะมี ตุ่ม ๆ และเป็นแผลในปาก มีอาการเจ็บคอ ไอจนนอนไม่หลับ อาการเหล่านี้จะใช่อาการเริ่มต้นของการเป็นมะเร็งโคนลิ้นหรือเปล่า? แล้วถ้าเป็นจริงๆจะสังเกตอย่างไรว่าจะเป็นมะเร็งที่โคนลิ้น หรือที่คอ เพราะหากมีตุ่ม ๆ ที่คอเวลาไปหาหมอ หมอเพียงแต่ส่องดู จับที่คอดูบอกว่าต่อมทอลซิลอักเสบ ให้ยามากินเท่านั้นเอง? อ่ะ อ่ะ ไม่ต้องซีเรียสไปค่ะ เพราะวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ มะเร็งโคนลิ้น  และวิธีป้องกันมาฝากกันค่ะ

          มะเร็งโคนลิ้น หรือที่ในวงการแพทย์เรียก มะเร็งออโรฟาริ้งค์ (Oropharynx) เป็นมะเร็งที่เกิดในตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ โดยส่วนใหญ่มะเร็งโคนลิ้นมักพบในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง และกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงเป็นโรคนี้มักจะอายุ 50 ปีขึ้นไป 



สาเหตุของการเกิด มะเร็งโคนลิ้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิด มะเร็งโคนลิ้น ได้ คือ

           การดื่มสุราจัด 

           การสูบบุหรี่จัด 

           ส่วนเรื่องอาหารและการติดเชื้อไวรัส ยังอยู่ในการศึกษาวิจัยว่าจะมีความสัมพันธ์กับ มะเร็งโคนลิ้น หรือไม่?

อาการของผู้ป่วยที่เป็น มะเร็งโคนลิ้น
           เจ็บคอเรื้อรัง 

           มีแผลเรื้อรังในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ เช่น ที่โคนลิ้น ที่ต่อมทอมซิลหรือในช่องปากข้าง ๆ ด้านในของลำคอ เป็นต้น 

           มีก้อนในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ ตรงอวัยวะที่เป็นมะเร็ง เช่น มีต่อมทอนซิลโตผิดปกติ เป็นต้น และก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ โตเร็ว 

           อาจมีเลือดปนน้ำลายหรือเสลด 

           กลืนอาหารแล้วรู้สึกติดคอ ไม่คล่อง เจ็บคอ

           ถ้าก้อนโตมากอาจมีอาการหายใจไม่ได้ หายใจไม่ออก เพราะก้อนจะโตไปอุดทางเดินหายใจได้ 

           ถ้าเป็นระยะลุกลาม โรคจะกระจายมาต่อมน้ำเหลืองที่คอข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ 

           สรุปได้ว่า ผู้ป่วยมักจะมีแผลเรื้อรัง และไม่มีอาการเจ็บปวดในระยะแรก ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมากฉพาะที่แสดงว่า มะเร็งนั้นอาจลุกลามลึกลงไปในส่วนนั้น ๆ หรือลุกลามไปตามเส้นประสาท หรือกระดูก หากมีอาการเหล่านี้ควรให้แพทย์ตรวจให้ละเอียดจะดีกว่าค่ะ

ระยะของโรค มะเร็งโคนลิ้น นั้น แบ่งเป็น 4 ระยะ ด้วยกัน
           ระยะที่ 1  ก้อน / แผล มะเร็งมีขนาดเล็ก 

           ระยะที่ 2 ก้อน / แผล มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น 

           ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คลำได้ 

           ระยะที่ 4 ก้อน / แผล มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงมากขึ้น กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมาก และอาจโตทั้ง 2 ข่างของลำคอ หรือมีโรคแพร่กระจายไกลไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระจายไปปอดหรือกระดูก เป็นต้น

ปัจจัยที่เสริมความรุนแรงของ มะเร็งโคนลิ้น มีหลายปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่
           ระยะของโรค ยิ่งระยะสูงขึ้น โรคก็รุนแรงมากขึ้น
           สภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย ถ้าแข็งแรงผลการรักษาก็ดีกว่า 

           โรคร่วมอื่น ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา 


           ผู้ป่วยสูงอายุ มักทนการรักษาแบบหายขาดไม่ได้


วิธีการรักษา มะเร็งโคนลิ้น มี 3 วิธี คือ
           รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาหลักในการรักษามะเร็งโคนลิ้น ใช้รักษาทุก ๆ ระยะของโรค โดยทั่วไปจะเป็นการฉายรังสี ครอบคลุมทั้งส่วนเชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ และต่อมน้ำเหลืองที่คอ จะฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันทุก ๆ วัน ใน 1 สัปดาห์จะฉาย 5 วันติดต่อกัน หยุดพักสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลก็จะหยุดวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการใช้ระยะเวลารักษาทั้งหมดประมาณ 6-8 สัปดาห์ติดต่อกัน การฉายรังสีจะมีผลกระทบต่อช่องปากและฟัน ฟันจะผุเสื่อมสภาพได้ง่าย

         ดังนั้นก่อนการฉายรังสี ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการตรวจรักษาช่องปากและฟันจากทันตแพทย์ก่อน ทันตแพทย์จำเป็นต้องถอนฟันที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ออกให้หมดก่อน และจะเริ่มฉายรังสีหลังจากมีการดูแลช่องปากและฟันเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามีการถอนฟันก็จะต้องรอจนกว่าแผลถอนฟันจะติดดีก่อน

           เคมีบำบัด มักให้ร่วมกับรังสีรักษาเสมอจะให้ในผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามแล้ว และมีสุขภาพแข็งแรง การให้เคมีบำบัดมักให้ไปพร้อมกับการฉายรังสี แต่ถ้าระหว่างรักษาผู้ป่วยทนการรักษาได้ไม่ดี แพทย์มักจะพักการให้เคมีบำบัดไว้ก่อน แต่จะยังฉายรังสีต่อจนครบแล้วจึงจะกลับมาให้เคมีบำบัดต่อ

           การผ่าตัด การผ่าตัดรักษามะเร็งโคนลิ้นมีข้อจำกัดมาก มีผู้ป่วยน้อยรายที่จะใช้การผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคนี้

          อย่างไรก็ตามภายหลังครบการรักษาแล้ว แพทย์จะยังนัดตรวจรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ไป โดยใน 1-2 ปีแรก หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี มักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน แต่ถ้าภายหลัง 5 ปีไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน

          ในการมาตรวจเพื่อติดตามโรคทุกครั้ง ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมรักษา พูดคุยกับแพทย์โดยตรง และควรนำยาที่ รับประทานอยู่หรือถ้ามีการตรวจจากแพทย์ท่านอื่น ๆ ด้วย ก็ควรนำผลการตรวจนั้น ๆ มาแจ้งแพทย์ด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ


- ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง