เครือข่ายภาคเกษตรกร หนุน รบ.ใหม่ดันนโยบายเกษตรปลอดภัย

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กรกฎาคม 2554 11:45 น.

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       อึ้ง!! ไทยนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรเกือบ 18,000 ล้านบาท เครือข่ายภาคเกษตร ชี้ สารเคมี 4 ชนิดมีพิษสูง หนุนรัฐบาลใหม่ดันนโยบายเกษตรปลอดภัย
      
       น.ส.รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักวิจัย มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม และแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการเพื่อเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร โดยพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึง 117,698,480 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่า 17,924,407,345 บาท เพิ่มขึ้นจากข้อมูลปี 2540 เฉลี่ย 11% ต่อปี จากการเฝ้าระวังสารเคมีเหล่านี้ พบว่า มีสารเคมี 4 ชนิดที่มีอันตรายและมีพิษสูง แต่ประเทศไทยยังใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคการเกษตร โดยไม่มีการควบคุมอย่างเป็นระบบ ขณะที่ต่างประเทศ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในแถบอาเซียนได้ประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้แล้ว แต่ยังพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมสารเคมียังมีการส่งออกสารเคมีเหล่านี้ไปยัง ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย
      
       น.ส.รพิจันทร์ กล่าวว่า สาร เคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คาร์โบฟูราน มีพิษสูงและมีสารตกค้างที่ล้างออกได้ยาก ใช้กำจัดแมลงในพืชหลายชนิด อาทิ ข้าว อ้อย กล้วย แตงโม ถั่วฝักยาว 2.เมโทมิล เป็นสารเคมีแบบพ่น พืชสามารถดูดซึมสารเคมีชนิดนี้ได้ และแมลงที่กัดกินพืชก็จะได้รับสารตกค้างไปด้วย 3.ไดโครโตฟอส เป็นสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ส่วนมากใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงในข้าว และผักต่างๆ และ4.อีพีเอ็น องค์การอนามัยโลก จัดเป็นสารเคมีในกลุ่มที่มีพิษสูงที่สุด ใช้ผสมกับสารเคมีอื่น เพื่อกำจัดแมลงในพืชตระกูลแตง ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น
      
       ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ในฐานะอดีตประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ กล่าวว่า การเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตรต้องทำอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ โดยนำทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมจากภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้ความรู้การจัดการสารเคมีทางการเกษตร โดยเชื่อมโยงกับพลังด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งควรเร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ออกสู่สังคมในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวแก่ประชาชน เพราะปัจจุบันประเด็นอันตรายและผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร และการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบเกษตรปลอดภัย ยังเป็นเพียงประเด็นกระแสรอง แต่หากขับเคลื่อนจนเป็นประเด็นกระแสหลักเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะหยิบประเด็น นี้มาเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศแน่นอน เพราะเป็นเรื่องการป้องกันสุขภาพของผู้บริโภค และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
credit link http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000084524