โรค มายเอสทีเนีย แกรวีส




ผู้หญิง


โรค มายเอสทีเนีย แกรวีส Myasthenia gravis (สภากาชาดไทย)


          Myasthenia gravis เป็นโรคที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า แต่ถ้าเป็นมากอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั้วตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจ


          ลักษณะสำคัญของผู้ป่วยโรคนี้ คือ มี อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็น ๆ หาย ๆ โดยมักจะเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่ตา ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก ต่อมาอาจมีอาการอ่อนแรงทั่ว ๆ ไป กลืนลำบาก สำลัก ถ้าเป็นมากอาจถึงกับหายใจไม่ได้ ชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดในผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ถ้าอาการเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าหญิง


          โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด Dr. Thomas Willis บรรยายลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้ไว้ตั้งแต่ 300 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันพบว่า สาเหตุ เกิดจากร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี้ต่อตัวรับสารสื่อนำประสาท ที่มีชื่อเรียกว่า acetylcholine ซึ่งอยู่ที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นอย่างผิดปกติ จะทำลายตัวรับชนิดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก


          พบว่าตัวรับสารสื่อนำประสาทในผู้ป่วยโรคนี้ น้อยกว่าของคนปกติถึงหนึ่งในสาม และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การเกิดแอนติบอดี้ผิดปกติมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับต่อมไธมัส พบว่าในผู้ป่วย Myasthnia gravis ประมาณ 75% มีความผิดปกติของต่อมไธมัสร่วมด้วย


          นอก จากนี้ยังพบร่วมกับโรคลูปัสได้บ่อย เช่นเดียวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เดิม Myasthenia gravis เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมากตั้งแต่ 30-70% แต่หลังจากการค้นพบยา physostigmine ซึ่งสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ รวมทั้งพบว่าผลการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมไธมัสได้ผลดี จึงทำให้อัตราตายของผู้ป่วยโรคนี้ลดลงเรื่อยๆ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเดือน ในบางรายอาจมาด้วยอาการรุนอรงแบบฉับพลัน โดยเฉพาะกรณีที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว


          ผู้ป่วยบางรายซึ่งอาการไม่มาก อาจไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Myasthenia gravis มาก่อน แต่มีปัญหาภายหลังการผ่าตัด โดยไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้เต็มที่หลังการผ่าตัด และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน โดยทั่วไปอาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 4 ปีแรก ถ้าได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยที่ 90% ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงที่สุดภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ จากนั้นโรคจะเข้าสู่ระยะคงที่ และอาจค่อย ๆ ดีขึ้น ใช้เวลาเป็นปี มีผู้ป่วยบางรายที่อาการดีขึ้นเอง มักจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีแรก ในผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไธมัสร่วมด้วย


          ใน บางครั้งผู้ป่วย Myasthenia gravis จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวัน โดยที่การตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติมากนัก ร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายคล้ายอาการที่เกิดจากโรคทาง จิตใจ และไม่ได้รับการวินิจฉัยในเบื้องต้น เป็นผลทำให้มีอาการมากขึ้นได้ และยาบางชนิดมีผลทำให้เกิดอาการของโรคหรือทำให้โรคเลวลงได้เช่นกัน เด็กบางคนมีอาการของโรคนี้ตั้งแต่แรกเกิด มารดามักจะสังเกตว่าเด็กมีอาการแขนขาอ่อนแรงและขยับได้น้อย ส่วนเด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ ร้อยละสิบจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั่วไปตั้งแต่แรกคลอด และเป็นอยู่นานสองสัปดาห์ก็จะหายได้เอง








http://health.kapook.com/view11204.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก