ไดรฟ์กอล์ฟบ่อยเสี่ยงกระดูกเสื่อม

กอล์ฟ


ไดรฟ์กอล์ฟบ่อยเสี่ยงกระดูกเสื่อม (ไทยโพสต์)

          กีฬากอล์ฟอาจเป็นกีฬายอดฮิตของนักธุรกิจ และผู้บริหาร แต่อย่างไรก็ตาม บางทีความชอบอาจจะเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพก็ได้

          นั่นเพราะ ภญ.กรรณิการ์ เอกศักดิ์ บริษัท เฮลธ์ อิมแพค จำกัด กล่าวว่า กอล์ฟ์จัดเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ให้แต่ความสนุกเพลิดเพลินใจเท่านั้น สิ่งที่เพิ่มตามมาพร้อมความสนุกก็คือ การเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็นหรือข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย หากผู้เล่นปฏิบัติตนไม่ถูกวิธี

          การ เล่นกอล์ฟจึงมีหลาย ๆ จุดที่ควรระวังร่างกายของผู้เล่นด้วย โดยเฉพาะในตำแหน่งที่พบว่าเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย อาทิ บริเวณหลัง ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือและนิ้วมือ ซึ่งอาการบาดเจ็บในบริเวณใดมากจะขึ้นกับท่าทางของผู้เล่นเอง นักกอล์ฟหัดใหม่มักจะมีปัญหานิ้วล็อกเพราะจับแน่นเกินไป หรือท่าที่ต้องมีการบิดตัวในขณะตีอย่างแรงและรวดเร็ว เช่น ท่า Backswing, Downswing, Acceleration และ Ball Strike ถ้า ผู้เล่นไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก็อาจเกิดกล้ามเนื้อและเอ็น อักเสบ ทำให้ปวด เจ็บและเกิดการอักเสบบวมได้ ซึ่งนอกจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อและเอ็นแล้ว บางท่านอาจเกิดการอักเสบและการเสื่อมของข้อต่อร่วมด้วย โดยในส่วนของวิธีรักษากล้ามเนื้อและเอ็นที่อักเสบนั้น แค่พักการเล่นสักระยะก็หายได้ 

          ใน กรณีที่เกิดการบาดเจ็บของข้อ อาจเนื่องจากแรงกระแทก การยืนซ้อมในท่าที่ผิดหรือการซ้อมไดรฟ์มากเกินไป ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อเกิดสึกกร่อน ในช่วงที่มีการอักเสบจะมีอาการปวดมาก ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการของโรคข้อเสื่อมได้ เริ่มจากมีอาการเจ็บปวดตามข้อ มักจะเกิดบริเวณข้อเข่า นิ้วมือ ต้นคอ และปวดหลัง ข้อติดขัดขยับไม่ค่อยออก อาจมีเสียงลั่นดังในข้อคล้ายเสียงกระดูกเสียดสีกัน ข้ออักเสบบวม ซึ่งอาการจะค่อยเป็นค่อยไปและรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของข้อทำได้น้อยลง กิจวัตรต่าง ๆ ที่เคยทำก็จะถูกจำกัดลงไปอย่างมาก

          ในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องทานยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ที่เรียกกันว่า เอ็นเสดส์ – NSAIDs) ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ แต่จะมีข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารหรือลำไส้ คือกัดกระเพาะ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะหรือลำไส้ได้ง่าย พร้อมทั้งพักการใช้งานข้อชั่วคราวก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ มิได้เป็นการทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมไปแล้วคงสภาพหรือมีความแข็งแรงมากขึ้น

          สำหรับ ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกอล์ฟ ก็อย่าลืมเตรียมร่างกายทุกครั้งก่อนการเล่นด้วยการอบอุ่นร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อหลัง คอ แขน ขา เพื่อปรับสภาพร่างกาย และหลังการเล่นก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายช้า ๆ เพื่อปรับสภาพร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิม นอกจากนี้การเล่นก็ควรคำนึงถึงอายุ ความสามารถและใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม

          เพียงเท่านี้เราก็สามารถสนุกกับกีฬากอล์ฟไปได้อีกนาน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก