เมตาบอลิก ซินโดรม อ้วนลงพุง ภัยร้ายของคนเฉื่อยชา



โรคอ้วน อ้วนลงพุง


เมตาบอลิก ซินโดรม อ้วนลงพุง ภัยร้ายของคนเฉื่อยชา (Lisa)

          เมื่อไลฟ์สไตล์เฉื่อยชา โรคภัยไข้เจ็บก็จะมาเยือน พอรวมตัวกันมาก ๆ เข้าก็กลายเป็น "เมตาบอลิกซินโดรม" ที่เหมือนผีร้ายทำให้คุณตายเร็วขึ้น ขอบอกว่า ต่อให้ผอมก็อาจเป็นได้นะ แล้วจะมองข้ามกันอีกเหรอ?

          คุณอาจเคยได้ยินแต่โรคอ้วน (Obesity) แต่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงโรคเมตาบอลิก ซินโดรม ที่มีชื่อเล่นว่า "โรคอ้วนลงพุง" ความจริงแล้วมันเป็นภาวะที่สามารถนำคุณไปสู่โรคเบาหวานและโรคหัวใจ อันเป็นอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่กัดกร่อนคนอยู่ทุกวันนี้

Metabolic Syndrome คืออะไร

          เมตาบอลิก ซินโดรม (ในที่นี้ขอย่อว่า MetS) แปลตามตัวว่า กลุ่มอาการผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย แต่ในบางครั้งก็เรียกว่า "โรคอ้วนลงพุง" เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโดยมากที่อยู่ในภาวะนี้ จะมีไขมันสะสมที่หน้าท้อง (อ้างอิงจากบทวิทยุรายการคลินิก 101.5 โดย เภสัชกร กิติยศ ยศสมบัติ)

          หากคุณอยู่ในภาวะนี้ อาจหมายความว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ประเภท 2 มากขึ้นประมาณ 9-30 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ ส่วนโรคหัวใจนั้น อาจมีโอกาสเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า

          ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ควรได้รับการกล่าวถึง อย่างเช่นการที่ MetS มีความเกี่ยวข้องกับไขมันที่สะสมในตับ ทำให้เกิดอาการอักเสบ จนอาจนำไปสู่โรคตับอักเสบ ส่วนไตก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน และอาจมีอาการอย่างอื่น เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Polycystic Ovary Syndrome (กลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ) และอาจสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

อาการนี้จะมาเยือนคุณได้อย่างไร

          MetS เป็นกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นไม่ออกกำลัง ใช้ชีวิตเฉื่อยชา น้ำหนักเพิ่มเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่นำไปสู่ภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีน้ำหนักปกติก็อาจพบผู้ป่วยประมาณ 5% ส่วนคนที่น้ำหนักเกินอาจพบได้ 22% แต่คนที่มีน้ำหนักตัวในขั้นอ้วน (Obese) อาจพบได้ถึง 60% นอกจากนี้ คนที่น้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 2.5 กิโลกรัมหรือมากกว่า ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเมตาบอลิก ซินโดรมถึง 45% ในขณะที่ความอ้วนเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง สาเหตุต่าง ๆ อาจจะรวมถึง

          การเข้าสู่วัยทอง

          สูบบุหรี่

          กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป

          ใช้ชีวิตเฉื่อยชา (แม้น้ำหนักจะไม่เปลี่ยนก็ตาม) และ

          การดื่มแอลกอฮอล์มากหรือน้อยเกินไป (ปริมาณที่พอเหมาะ คือ 1-13 ดริ๊งก็ต่อสัปดาห์)

จะรู้ได้อย่างไรว่าฉันเป็น Metabolic Syndrome

          คนที่เป็นเมตาบอลิก ซินโดรมอาจจะไม่ได้อ้วน โดย American Heart Association และ The National Heart, Lung and Blood Institute ชี้ว่า เราอาจจะสามารถระบุถึงภาวะกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ หากคุณมีปัจจัยต่อไปนี้ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป ถ้าคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะมีอาการอื่น ๆ ด้วย (แต่อาจไม่รู้) และสุขภาพของคุณก็จะยิ่งแขวนอยู่บนเส้นด้ายมากเท่านั้น

          1.รอบเอว

             ผู้ชาย-มากกว่า หรือเท่ากับ 40 นิ้ว

             ผู้หญิง-มากกว่า หรือเท่ากับ 35 นิ้ว

          2.ระดับไตรกลีเซอไรด์ มากกว่าหรือเท่ากับ 150 gm/dL

          3.ระดับคอเลสเตอรอล "ดี" หรือ HDL

             ผู้ชาย-น้อยกว่า 40 gm/dL
 
             ผู้หญิง-น้อยกว่า 50 gm/dL

          4.ความดันโลหิต มากกว่าหรือเท่ากับ 130/85 mmHg

          5.ระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 100 mg/dL

ไม่อยากเป็นเลย ทำยังไงดี?

          ถ้ารู้ตัวว่า คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะเมตาบอลิกก็อย่าเพิ่งใจหาย โรคที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ ต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้

          ออกกำลังกาย : เรา รู้ว่าคุณเบื่อคำนี้ แต่ถ้าคุณอยากมีสุขภาพที่ดี (และน้ำหนักตัวที่เหมาะสม) คุณจำเป็นจะต้องออกกำลัง แต่อย่าห่วง ถ้าออกกำลังเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่ลดลงสักที เป้าหมายของเราก็คือการลดความดันโลหิต ปรับคอเลสเตอรอลในเลือดให้ดีขึ้น และยังรวมไปถึงการต่อสู้กับภาวะด้านอินซูลินด้วย ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องสมัครฟิตเนสด้วยซ้ำ แค่เริ่มทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างเดินแทนที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ หรือจอดรถให้ไกลขึ้นอีกนิด เริ่มทำทีละอย่างช้า ๆ แล้วคุณจะติดใจ

          กินอาหารที่มีประโยชน์ : อีกครั้งที่คุณเบื่อกับคำเตือนของเรา แต่จำไว้ว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์ไม่ได้ทำให้คุณผอมลงเท่านั้น และถ้าคุณกำลังใช้ยาเป็นประจำ ก็ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าอะไรที่กินได้ และอะไรที่กินไม่ได้ (โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นโรคหัวใจและเบาหวาน) แต่โดยทั่วไปแล้ว หากคุณไม่ค่อยกินไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และเกลือ แต่กินพวกผักผลไม้กับโปรตีนไขมันต่ำ สุขภาพของคุณก็น่าจะอยู่ในระดับดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมไปตรวจสุขภาพด้วย

          ลดน้ำหนัก : สำหรับ คนที่น้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักย่อมทำให้อาการหลาย ๆ อย่างดีขึ้น รวมถึงโรคที่ไม่ได้เกี่ยวกับเมตาบอลิก ซินโดรม โดยตรงด้วย ดังนั้น จึงต้องลดน้ำหนักไม่ให้ BMI เกิน 25 (คำนวณโดยน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2

          เลิกบุหรี่ : การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงให้คุณเป็นโรคหัวใจทำลายระบบหลอดเลือด ยิ่งถ้าคุณสูบบุหรี่ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคหัวใจ ก็เป็นไปได้ว่า อาการเจ็บป่วยของคุณจะไม่หยุดอยู่แค่อย่างเดียวแล้วล่ะ

          อย่างที่เราได้กล่าวไปว่า เมตาบอลิก ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ และคนที่ป้องกันได้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ตัวคุณเองนั่นไงคะ...



credit link http://health.kapook.com/view21902.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก