นวัตกรรมใหม่ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ



โรคหัวใจ


นวัตกรรมใหม่ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (ไทยโพสต์)

          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของประชากรโลก และเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรไทยติดอันดับ 1 ใน 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคเอดส์ ล่าสุดมีวิธีการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคแทรกซ้อน และส่งผลดีแก่ผู้ป่วยในระยะยาว

          นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ เป็นผลจากการสะสมของไขมันบนผนังหลอดเลือด ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่ บอกได้เพียงว่าปัจจัยเสี่ยงหลัก มีความเกี่ยวพันมาจากบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติการเป็นโรคในกลุ่มเบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิต รวมถึงการสูบบุหรี่ โดยมีปัญหาเรื่องความอ้วน ความเครียด และขาดการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
          จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซึ่งเป็นผลจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ที่ 15-20% ส่วนในรายที่ไม่เสียชีวิตก็อาจได้รับความพิการหรือมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลง และยังมีแนวโน้มว่าอัตราผู้ป่วยจะยังคงเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่การดูแลป้องกันตนเอง ตลอดจนความรู้เท่าทันโรคยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะผู้ที่ทิ้งอาการป่วยไว้เป็นระยะเวลานานเกินไปก่อนถึงมือแพทย์

          สำหรับวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คุณหมอเผยว่าแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก คือ 1. การใช้ยา  2. การผ่าตัดตัดต่อเส้นเลือด คือการนำหลอดเลือดดำที่ขา หรือหลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกมาตัดต่อกับหลอดเลือดที่อุดตัน เพื่อทำทางเดินของเลือดใหม่ และ  3. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด โดยสอดเครื่องมือเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อถ่างขยายทางเดินเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น

           ซึ่งวิธีที่ 3. นี้ มีขั้นตอนโดยการเริ่มต้นที่ฉีดสี และถ่ายภาพเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจเพื่อวินิจฉัย หากพบว่ามีอาการหลอดเลือดสมองตีบในขั้นรุนแรงจริง แพทย์จึงจะตัดสินใจทำการทำบอลลูนเพื่อถ่างขยายหลอดเลือด ซึ่งวิธีนี้เป็นการสอดเส้นลวดขนาดเล็กเท่าเส้นผมที่มีบอลลูนอยู่ตรงปลาย ผ่านเข้าไปจนปลายเส้นลวดเลยจุดที่หลอดเลือดตีบ โดยใช้ภาพจากการเอกซเรย์ช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนจนตรงกับจุดที่หลอดเลือด หัวใจตีบ แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนขยายตัวถ่างหลอดเลือดออก เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น บางกรณีที่หลอดเลือดยังไม่กว้างพอ หรือมีโอกาสสูงที่จะเกิดการตีบซ้ำ แพทย์จะใส่ขดลวด (Stent) เข้าไปยังบริเวณที่เคยตีบ จากนั้นขยายขดลวดให้กางออก เพื่อยึดติดกับผนังหลอดเลือด

สเต็นท์ stent

          สำหรับ ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับการผ่าตัดและดมยาสลบ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจึงต่ำกว่าการผ่าตัดตัดต่อเส้นเลือด อีกทั้งผู้ป่วยยังใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วัน และในกรณีที่เกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดในตำแหน่งเดิม ผู้ป่วยสามารถถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวดซ้ำได้อีก ด้วยความปลอดภัยเช่นเดียวกับการทำครั้งแรก

          พร้อมกันนี้คุณหมอได้กล่าวว่า โดยทั่วไปโอกาสที่หลอดเลือดหัวใจจะกลับมาตีบซ้ำใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือภายใน ระยะเวลา 10-12 ปีนั้น จะคิดเป็นประมาณ 8% เท่านั้น หากใช้ stent ซึ่งอาบน้ำยา ขณะเดียวกันการตีบซ้ำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ระบบการติดตามผลที่ดีและการปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์อย่างเคร่ง ครัดจากตัวผู้ป่วยเอง จะทำให้โอกาสที่เกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดมีความเป็นไปได้น้อยลง หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย คุณหมอกล่าว





credit link  http://health.kapook.com/view24182.html
 ขอขอบคุณข้อมูลจาก