มารู้จักโรคจอประสาทตาเสื่อม


โรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม (หมอชาวบ้าน)
ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

          คุณ ปู่ คุณย่า หรือแม้กระทั่งคุณพ่อ คุณแม่ เคยบ่นกันบ้างไหมว่า มองเห็นไม่ค่อยชัด เห็นเป็นภาพเบลอ ๆ บางทีท่าอาจจะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมก็เป็นได้ วันนี้ คุณหมอจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จะมาพาเราไปรู้จักเจ้า "โรคจอประสาทตาเสื่อม" กัน

โรคจอประสาทตาเสื่อมคืออะไร

          โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่จุดรับภาพของจอ ประสาทตา โรคนี้ทำให้สูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะกลางภาพ โดยสามารถมองเห็นขอบด้านข้างของภาพได้ เช่น มองเห็นตัวคน ส่วนของใบหน้าเบลอมองเห็นไม่ชัด

          ผู้ป่วยบางรายเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาขึ้นอย่างช้า ๆ จนแทบไม่ทันสังเกตเห็น ขณะที่บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เรียกว่า Age-related macular degeneration (AMD)

ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

          แม้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่ามาจากปัจจัยเสี่ยงหลายชนิด ผลการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ ได้แก่

          1.อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

          2.พันธุกรรม จากการวิจัยล่าสุด สามารถค้นพบยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติ สายตรง ควรได้รับการตรวจเช็กจอประสาทตาทุก 2 ปี

          3.เชื้อชาติ พบอุบัติการณ์ของโรคจอประสาทตาเสื่อมมากในคนผิวขาว (Caucasian)

          4.เพศ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

          5.บุหรี่ ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างน้อย 6 เท่ามากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

          6.ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ต้องกินยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและระดับแคโรทีนอยด์ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

          7.โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมาก อาจทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นมากขึ้น
         


ดวงตา


จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

          ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจแสดงอาการแตกต่างกันในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการตามัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกลางภาพ มีความลำบากในการอ่านหนังสือหรือทำงานละเอียด และต้องใช้แสงมาก ๆ อาจเห็นภาพบิดเบี้ยว ในโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

          ความผิดปกติในการมองเห็นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค อาจยากต่อการสังเกต โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี

          ตามคำแนะนำของวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา "บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40-64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2-4 ปี
สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติอะไร"

          เนื่องจากการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกัน การ ตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าจอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

          การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุด หรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรง

          สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org

การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

          ถึงแม้โรคจอประสาทตาจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาในปัจจุบันเป็นเพียงชะลอการสูญเสียสายตา แต่สามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีก เลี่ยงได้ เช่น

          หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม

          งดสูบบุหรี่

          เลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผักใบเขียว และผลไม้ กินวิตามินเสริม มีการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม พบว่า การกินวิตามินซี 500 มิลลิกรัม วิตามินอี 400 IU บีตาแคโรทีน 15 มิลลิกรัม สังกะสี 80 มิลลิกรัม และคอปเปอร์ 2 มิลลิกรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมอย่าง รุนแรงลงได้ร้อยละ 25 แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรค หรือมีประโยชน์ในคนที่เริ่มมีจอประสาทตาเสื่อมเล็กน้อย กินปลา กรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ที่พบมากในเนื้อปลา จะสามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้
credit http://health.kapook.com/view27595.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก