โอ๊ะ!! กระบังลมหย่อน



กระบังลมหย่อน

โอ๊ะ!! กระบังลม หย่อน (ธรรมลีลา)

โดย : ปุญญวีณ์

          หญิงไทยร้อยละ 70 จะมีปัญหาเกี่ยวกับกระบังลมหย่อน..ยิ่งอายุมากกระบังลมก็หย่อนมากขึ้น

          รอบรู้โรคภัยในครั้งนี้มีเรื่องเฉพาะของผู้หญิงมาฝากกันค่ะ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรรู้ไว้ก่อนจะสายเกินไป นั่นก็คือ กระบังลมหย่อน ซึ่ง รศ.พญ.มานี  ปิยะอนันต์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เขียนบอกถึงสาเหตุ อาการและการป้องกันไว้ดังนี้ค่ะ

          หญิง ไทยร้อยละ 70 จะมีปัญหาเกี่ยวกับกระบังลมหย่อนไม่มากก็น้อย และมักเกิดในหญิงที่เคยคลอดบุตรมากแล้ว โดยเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอดบุตร  เนื่องจากกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อและเอ็นต่าง ๆ จะยืดออกมาในขณะคลอดบุตร และเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู กล้างเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นต่าง ๆ จะยิ่งหย่อนมากขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายลดลง ยิ่งอายุมากกระบังลมก็หย่อนมากขึ้น และแม้แต่ในหญิงที่ไม่เคยคลอดบุตรก็ยังพบว่ามีกระบังลมหย่อนได้

  สาเหตุของกระบังลมหย่อน

          1. การคลอดบุตรตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

          2. ไอเรื้อรัง จากการเป็นโรคปอด โรคภูมิแพ้ การไอแต่ละครั้งจะทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้กระบังลมหย่อนมากขึ้น

          3. ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก ผู้หญิงบางคนถ่ายอุจจาระยาก หลาย ๆ วันถ่ายครั้งหนึ่ง การเบ่งอุจจาระบ่อย ๆ จะทำให้กระบังลมหย่อนมากขึ้น  และในผู้หญิงสูงอายุอาการท้องผูกจะยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถจะเคี้ยวผัก และผลไม้บางอย่างได้

  อาการของกระบังลมหย่อน

          อาการของกระบังลมหย่อน ขึ้นอยู่กับกระบังลมจะหย่อนมากน้อยแค่ไหนอาการทั่วไป ได้แก่

          1. มีอาการหน่วงช่องคลอด ในรายที่กระบังลมหย่อนไม่มาก

          2. มีก้อนโผล่ออกมาที่ช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผนังช่องคลอดหรือปากมดลูกโผล่ออกมานอกช่องคลอด หรือบางรายอาจจะเป็นมากจนมดลูกออกมาอยู่นอกช่องคลอดทั้งหมด

          3. มีเลือดออกหลังวัยหมดระดู เนื่องจากปากมดลูกโผล่ออกมานอกช่องคลอดและถูกเสียดสี ทำให้เกิดแผลขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจจะเป็นเนื้อรายได้

          4. มีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับว่ากระบังลมนั้นหย่อนมากน้อยแค่ไหนอาการที่พบเสมอ ได้แก่

           ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากกระบังลมหย่อน ทำให้ถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด จึงถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ เนื่องจากมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ

           กลั้นปัสสาวะไม่ได้  เวลาปวดจะไหลทันทีจนเข้าห้องน้ำไม่ทัน บางรายมีปัสสาวะเล็ดโดยเฉพาะเวลาไอ จาม หรือหัวเราะ ทำให้ไม่กล้าออกจากบ้าน หรือบางรายต้องใส่ผ้าอนามัยไว้ตลอดเวลา ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะสืบพันธุ์ตามมาอีก

           ปัสสาวะลำบาก เนื่องจากกระบังลมหย่อนมาก เวลาถ่ายปัสสาวะต้องเอามือดันกระบังลมเข้าไปก่อน จึงจะถ่ายปัสสาวะได้

           อุจจาระลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อหย่อน ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก และถ้าท้องผูกมากอาการกระบังลมหย่อนก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น บางรายอาจเกิดโรคริดสีดวงทวารขึ้นได้ ทำให้มีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ

  การรักษา

          การรักษาคือการผ่าตัดซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะในผู้สูงอายุ ร่างกายจะเสื่อมลงทุกระบบ มักมีโรคประจำตัวหลายอย่าง  เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ดังนั้น การป้องกันกระบังลมหย่อนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

  กระบังลมหย่อนป้องกันได้

          การป้องกันกระบังลมหย่อนเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ในขณะที่ตั้งครรภ์ การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหดได้ดี ทำให้การคลอดบุตรง่ายขึ้น และหลังคลอดกระบังลมจะหย่อนน้อยลง และการออกกำลังกายภายหลังการคลอดบุตรจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และน้ำคาวปลาออกได้ดี

          การออกกำลังกายในหญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายกำลังเริ่มเสื่อมลงจะช่วยให้การเสื่อมช้าลง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การที่หัวใจฉีดเลือดแรงขึ้น จะเป็นการป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด

          ส่วนในหญิงวัยหมดระดูนั้น การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคกระดูกบางได้ ทำให้ไม่ต้องกินฮอร์โมนทดแทนเพราะมีราคาแพงมาก จึงช่วยให้ประหยัดและหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดจากฮอร์โมนได้ด้วย

  วิธีการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับวัย

          1. สำหรับวัยเด็ก วันรุ่น และวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ควรจะเล่นกีฬา หรือวิ่งก็ได้ในวัยสูงอายุต้องออกกำลังกายโดยไม่ใช้น้ำหนักมาก และไม่ควรกระโดด การออกกำลังกายที่ดีต้องให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มการฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจจะใช้วิธีเดินเร็ว ๆ ขึ้นบันไดหรือว่ายน้ำ เป็นต้น การออกกำลังกายควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20 นาที และอย่าลืมถามตัวเองว่า วันนี้ท่านออกกำลังกายแล้วหรือยัง

          2. กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการต้องกินอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพราะจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

          ใน ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องฟัน จึงควรแนะนำผู้สูงอายุให้กินผักต้มนิ่ม ๆ เช่น หัวผักกาด ผักกาดขาว ฟักเขียว ฟักทอง เป็นต้น และต้องดื่มน้ำมาก ๆ

          3. ควรถ่ายอุจจาระทุกวัน เพราะถ้าอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นาน น้ำบางส่วนจะถูกดูดซึมออกไป ทำให้ถ่ายยาก ต้องเบ่งอุจจาระมากและอุจจาระที่แข็งจะไปครูดทวารหนัก ทำให้เกิดแผลและกลายเป็นริดสีดวงทวาร

           ควรฝึกตนเองให้ถ่ายอุจจาระทุกวันระยะแรก ๆ ต้องฝึกนั่งส้วมทุกวันครั้งละ 10 นาที มีบางคนเมื่อปวดถ่ายอุจจาระแล้วกลั้นเอาไว้ เพราะไม่มีเวลาพอต้องรีบออกจากบ้าน ในกรณีเช่นนี้ควรจะตื่นนอนให้เร็วขึ้นอีก 10 นาที เพื่อใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระ การกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ถ่ายอุจจาระลำบากและท้องผูก

          4. ขมิบก้น เพื่อทำให้กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นบริเวณกระบังลมแข็งแรงขึ้น การขมิบก้นต้องทำวันละหลายสิบครั้งจะได้ผล เพื่อไม่ให้ลืมทำควรขมิบก้นหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วทุกมื้อนับให้ได้ 30 ครั้งทุก ๆ วัน จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและกระบังลมจะไม่หย่อนมากขึ้น

  วิธี ขมิบก้น คนที่ขมิบก้นไม่เป็น กล้ามเนื้อกระบังลมจะไม่แข็งแรง ทำให้ท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวารได้ง่าย  ในกรณีที่ขมิบก้นไม่เป็น อาจแนะนำได้ 2 วิธีคือ

          ก. ให้ทำเหมือนกลั้นอุจจาระ

          ข. ทำเหมือนจะให้ปัสสาวะหยดสุดท้ายออก

          การขมิบก้นแต่ละครั้งควรขมิบและเกร็งไว้ 5 วินาทีก่อนแล้วจึงคลายออก โดยทำหลังอาหาร 30 ครั้งทุกวันและทุกมื้อจะได้ผลดีมาก


http://health.kapook.com/view5691.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก