อยากท้อง… ไม่อยากท้อง ?

ที่มา  คุณ kobnon  www.bloggang.com


สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงต่างมีสัญชาตญาณในการสืบเผ่าพันธุ์ มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติข้อนี้ด้วย เมื่อคนสองคนตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันด้วยความรักแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นความต้องการร่วมกันก็คือ “ พยานรัก ” ไว้เป็นโซ่ทองคล้องชีวิตคู่ให้ราบรื่น หลายต่อหลายคู่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง กลับไม่มีบุตรไว้ชมเชย ซึ่งแตกต่างจากบางคู่ที่ไม่อยากตั้งครรภ์ แต่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกก็ติดปั๊บ ได้ลูกน้อยไว้เป็นห่วงคล้องใจซะอย่างนั้นไป...วันนี้เรามีคำตอบสำหรับผู้ที่ อยากตั้งครรภ์และไม่อยากตั้งครรภ์มาฝากครับ

เมื่ออยากตั้งครรภ์...

ปัญหา”ภาวะมีบุตรยาก” หมายถึงการที่คู่สมรสนั้นไม่สามารถตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยที่ไม่มีการคุมกำเนิดและมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ จากการรวบรวมสาเหตุภาวะมีบุตรยาก พบว่า
- สาเหตุจากฝ่ายชาย 40%(เกือบทุกราย เกิดจากความผิดปกติของการผลิตอสุจิ)
- สาเหตุจากฝ่ายหญิง 40%(เกิดจากการตกไข่ผิดปกติหรือไม่ตกไข่ ท่อนำไข่ผิดปกติ และเป็นโรคในอุ้งเชิงกราน ที่พบน้อย คือสาเหตุที่ปากมดลูกและช่องคลอด ที่พบน้อยมาก คือการมีภูมิต้านต่อเชื้ออสุจิ)
- เกิดจากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน 20%

การมีบุตรง่ายหรือยาก เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

1. อายุของภรรยา
สตรีอายุ 20-25 ปี ที่มีสามีอายุใกล้เคียงกันจะมีการตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่าอายุอื่น ๆ
2. อายุของสามี
หากมีอายุ 20-25 ปี จะสามารถทำให้ภรรยาตั้งครรภ์ได้ 75% ภายใน 1 ปีแต่ถ้าสามีอายุ 40 ขึ้นไปจะสามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 25% ภายใน 1 ปี
3. ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์
หากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็สูงถึง 50%
4. ระยะเวลาของการพยายามมีบุตร
คู่สามีภรรยาที่พยายามมีบุตร ควรจะมีเพศสัมพันธ์ที่ถี่และสม่ำเสมอ (ประมาณ3ครั้ง/สัปดาห์)

เมื่อไรจึงควรปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก

ถ้าแต่งงานไม่ได้คุมกำเนิดมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอเกิน1 ปี แล้วไม่ตั้งครรภ์ แนะนำปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าอายุมากขึ้น เช่น เกิน 35 ปี อาจรอดูเพียง 6 เดือน

หากตั้งครรภ์ตามธรรมชาติไม่ได้ จะมีวิธีไหนอีกนะ

การมีบุตรยาก จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ระดับสูงเข้ามาช่วย นั่นคือ
- การทำผสมเทียมในหลอดแก้ว (In vitro Fertilization –IVF)
ทำโดยนำเชื้ออสุจิมาผสมกับไข่ในหลอดทดลอง แล้วจึงนำตัวอ่อนที่ผสมแล้วใส่กลับไปในโพรงมดลูก
- การผสมเทียมในท่อนำไข่ (Gamete Intra fallopian Transfor – GIFT)
ทำโดยนำเชื้ออสุจิและไข่ฉีดเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการผสมเป็นตัวอ่อน
ปัจจุบันสามารถทำการ แช่แข็งอสุจิและตัวอ่อนเพื่อเก็บได้นานๆ เพื่อสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือ สามารถฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่ของฝ่ายหญิงโดยตรงด้วยเครื่องมือพิเศษที่ เรียกว่า microinjection หรือ micromanipulation ในกรณีที่เชื้ออสุจิไม่สามารถเจาะไข่เข้าไปได้เอง ซึ่งการรักษาต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งต่างกันไปในแต่ละกรณี

เมื่อท่านตัดสินใจต้องการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก ควร...

- เตรียมตัวเตรียมใจให้ความร่วมมือกับทีมรักษา
- เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (ทั้งจากคู่รักและจากครอบครัว)
- ควรจะถามข้อสงสัย และปรึกษาเรื่องความรู้สึกไม่สบายกายและใจแก่แพทย์ หรือพยาบาลที่ดูแลท่านอยู่ เพราะความเครียดที่เกิดขึ้น อาจทำให้ภาวะมีบุตรยากเลวร้ายลงไป อาจทำให้ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาเปลี่ยนแปลงไปได้

ดังนั้นความพร้อมความร่วมมืออย่างเต็มที่ และความเข้มแข็งของจิตใจ จึงมีความสำคัญต่อการรักษาอย่างมากครับ

แล้วสำหรับคู่ที่ “ไม่อยากตั้งครรภ์” ต้องทำอย่างไร

การคุมกำเนิด เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่จะคุมอย่างไร และมีวิธีไหนที่เหมาะกับท่านและคู่ครองมากที่สุด เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ไปดูกันว่าปัจจุบันมีวิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีใดบ้างไปดูกัน

1. ยาเม็ดคุมกำเนิด

เป็นวิธีคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิดจะมี “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” และ “โปรเจสโตเจน” ฮอร์โมนทั้งสองชนิดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ผลิตเลียนแบบฮอร์โมนจากรังไข่ ยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ละชนิดจะมีส่วนประกอบที่ต่างกันเล็กน้อย มีทั้งแบบ 21 เม็ด และ แบบ 28 เม็ด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำนิดสูงมาก ถ้าไม่ลืมรับประทาน

การที่จะตัดสินใจเลือกทานยาคุมกำเนิดไม่ว่าแบบใด ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะราย ๆ ไป เพราะแต่ละคนก็มีความเหมาะสมกับยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

* หญิงอายุเกิน 35ปี และสูบบุหรี่ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด รวมทั้งผู้หญิงที่มีปัญหาเส้นเลือดอุดตัน มะเร็งเต้านม โรคหัวใจ หรือโรคร้ายแรงทางตับ

2. แผ่นคุมกำเนิด

ช่วยป้องกันการตกไข่ จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ในระดับเท่ากับยาเม็ดคุมกำเนิด โดยฮอร์โมนจะถูกปล่อยมาผ่านทางผิวหนังแทนการรับประทาน

วิธีใช้ แปะที่ผิวหนังและเปลี่ยนทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นเว้น 1 สัปดาห์ และเริ่มใหม่

3. ยาฉีดคุมกำเนิด

เป็นยาฮอร์โมนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง โดยจะต้องฉีดยาทุก 3 เดือน

ผลข้างเคียง อาจทำให้มีประจำเดือนกะปริดกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือน แต่ไม่มีผลเสียหรืออันตรายใด ๆ

4. ยาฝังคุมกำเนิด

เป็นยาฮอร์โมนคล้ายยาฉีดคุมกำเนิด แต่ใช้การฝังหลอดยาบริเวณท้องแขนด้านใน มีทั้งแบบ 1 หลอด หรือ 6 หลอด มีอายุการใช้นาน 3-5 ปี จากนั้นก็จะทำการเอาหลอดยาออก ผลข้างเคียงนั้นคล้ายกับยาฉีดคุมกำเนิด

5. ห่วงคุมกำเนิด

เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้สอดเข้าในมดลูกของผู้หญิงโดยแพทย์ทำหน้าที่ขัด ขวางไม่ให้ไข่ฝังตัวลงในมดลูก และสามารถขัดขวางเชื้ออสุจิไม่ให้เคลื่อนเข้าไปในมดลูก ห่วงคุมกำเนิดมีทั้งแบบมีและไม่มีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบ ใช้ได้ผลดีเป็นเวลา 5-10 ปี และถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีพอสมควร การใส่ห่วงคุมกำเนิดอาจให้ความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย แต่อาการดังกล่าวจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีประจำเดือนมากกมว่าปกติและอาจปวดประจำเดือนตามมา

6. ถุงยาอนามัย

ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม และควรสวมตลอดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์ ประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้ยาต่าง ๆ ข้อดี คือ ช่วยลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ และกามโรค * ถุงยางอนามัย ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง หรือในระหว่างร่วมเพศหากมีการหยุดพักชั่วคราวและถอดยุงอนามันออกแล้ว ก็ไม่ควรนำมากลับไปสวมใหม่เช่นกัน

7. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ประกอบด้วยฮอร์โมนในปริมาณสูง ซึ่งจะต้องใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ แต่มีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดวิธีอื่น

สิ่งสำคัญ คือ จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหลังจากผ่านไป 3-4 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ (ยาชนิดนี้อาจส่งผลต่อตัวอ่อนหากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น)

8.วิธีอื่น ๆ

- การนับช่วงปลอดภัย (หน้า 7 หลัง 7)

ตามทฤษฎีเราสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ หากไม่มีการร่วมเพศในช่วงที่ผู้หญิงกำลังตกไข่ แต่เป็นวิธีการที่เชื่อถือไม่ค่อยได้ เนื่องจากระยะเวลา และรอบเดือนของช่วงการตกไข่ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

- ผู้ชายหลั่งภายนอก

แม้จะหลั่งภายนอก แต่เชื้ออสุจิบางส่วนอาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนการหลั่งเกิดขึ้น ทำให้เชื้ออสุจิที่ผิวหนังรอบ ๆ ปากมดลูกเคลื่อนตัวเข้าไปในปากมดลูก และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

สำหรับยาคุมกำเนิดบางชนิดที่วางขายตามร้านขายยา สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่หากใช้อย่างไม่ระวังก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาได้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีก

การหลีกเลี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และการป้องกันตัวเองจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำของคน 2 คน แต่คนที่ต้องได้รับผลโดยตรงต่ออันตรายของ “การทำแท้ง” คือ ผู้หญิงเพียงลำพังที่ต้องเสี่ยงทั้งชีวิตของตนเอง ยิ่งครรภ์มากความเสี่ยง และอันตรายจากการทำแท้งก็ยิ่งสูง ที่สำคัญสุภาพสตรีท่านนั้นก็ไม่อาจขจัดความสะเทือนใจ ความเสียใจ ในฐานะของผู้ที่ได้อุ้มท้องทารกนั้นมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง.






ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=luckystar&month=26-07-2011&group=29&gblog=106
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/
e-pl/articledetail.asp?id=819