รู้จักและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว


โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) (โรงพยาบาลพญาไท)

          หัวใจ ทุกดวงทั้งปกติและไม่ปกติ ต้องการการดูแลอย่างทะนุถนอม ทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ หัวใจของคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) นั้น ทางการแพทย์พบว่า ถ้าเรา (หมายถึงทีมแพทย์บุคลากรทางการแพทย์) ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษแล้ว จะทำให้หัวใจดวงนั้นอยู่ได้นานขึ้น เจ้าของหัวใจก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโอกาสที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อซ่อมแซมก็จะลดลงได้อย่างชัดเจนด้วย

ภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร?

          ภาวะนี้คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของร่างกายได้อย่าง มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในสภาวะต่าง ๆ สาเหตุเกิดจากหลายประการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอยู่นาน ๆ ก็จะทำให้หัวใจทำงานหนักมากเกินไป เพราะต้องคอยบีบเลือดผ่านหลอดเลือดที่มีความต้านทานสูง จนในที่สุดก็ทนไม่ไหวเกิดภาวะหัวใจโต และหัวใจล้มเหลวในที่สุด

          นอกจากนี้ การติดต่อเชื้อบางประเภทก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง ถ้าเป็นมากก็ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ หรือแม้แต่ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ พูดรวม ๆ ได้ว่าความผิดปกติของหัวใจทุกชนิด ถ้าไม่ได้รับการดูรักษาทันเวลาก็จะทำให้หัวใจโต แล้วก็หัวใจล้มเหลวในที่สุด

          อาการ ของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวก็เกิดจากการที่หัวใจมามีประสิทธิภาพในการ ทำงานนั่นเองครับ ที่พบบ่อย ๆ คือ เหนื่อยหอบในเวลาออกแรง นอนราบไม่ได้ บางคนต้องตื่นขึ้นมาในตอนดึก ๆ เพราะนอนแล้วหายใจไม่สะดวก (เนื่องจากมีน้ำท่วมในปอด) แน่นจุกลิ้นปี่ (ตับมีน้ำคั่ง) หรือบวมตามแขนขา เป็นต้น

          การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การถ่ายภาพรังสีปอดและหัวใจ ก็จะพบหัวใจโตหรือมีน้ำในปอด ผลตรวจเลือดบางชนิด เช่น การทำงานของไตหรือตับก็อาจผิดปกติได้ในรายที่เป็นมากที่สำคัญของผู้ที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลวก็คือ การทำนายโรคไม่ค่อยจะได้ดีนักหรอกครับ โอกาสเสียชีวิตภายในห้าปีหลังจากที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวสูง ถึงร้อยละ 50 เรียกง่าย ๆ ว่าหนึ่งในสองคนที่มีภาวะนี้จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี

          ภาวะ หัวใจล้มเหลวเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างยิ่งทั่วโลก เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง สถิติผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมากถึงเกือบ 5 ล้านคน และทุก ๆ ปีจะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคน จำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว

          ส่วน สาเหตุที่นับวันจะยิ่งพบผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแพทย์ใส่ใจดูแลหัวใจผู้ป่วยได้ดีกว่าแต่ก่อน ทำให้ตรวจและวินิจฉัยพบผู้ป่วยที่มีอาการสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะดังกล่าวได้ เร็วขึ้นกว่าเดิมที่มักจะพบเมื่ออาการวิกฤตแล้ว อีกทั้งวิธีการรักษา ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้มีผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหัวใจต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในที่สุดก็หนีสัจธรรมของชีวิตไม่พ้นหรอกครับ อายุมากขึ้น ต่อให้หมอรักษาดีแค่ไหน หัวใจก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามอายุขัยอยู่แล้ว ในที่สุดก็หนีภาวะหัวใจล้มเหลวไม่พ้น

          ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ เรียกว่าบางทีกินอาหารผิดสำแดงแค่มื้อเดียว (ในที่นี้คืออาหารที่มีเกลือโซเดียมมาก เช่น อาหารเค็มหรือ อาหารที่ใส่ผงชูรส ซึ่งไม่เค็มแต่ก็มีเกลือโซเดียมอยู่) เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วนะครับ


โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว


การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

          แน่นอนครับ การรักษาในภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นมีเป้าหมายที่จะทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นและ ชะลอความเสื่อมของสภาพของหัวใจ แต่นอกเหนือไปจากนั้นก็คือ มุ่งเน้นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่ภาวะหัวใจล้มเหลวหายแล้ว แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องกลับมาอยู่โรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำ อีก

          การรักษาโดยทั่วไป ก็ คือการรับประทานยา ทั้งนี้ ยาที่ใช้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีหลายขนาดและหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งจะแตกต่างไปตามสภาวะและความรุนแรงของโรค ยาที่ใช้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากั้นเบต้า เป็นต้น นอกเหนือไปจากการรับประทานยาก็คือ การควบคุมภาวะที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น ควบคุมการบริโภคน้ำและเกลือเพื่อป้องกันน้ำที่เกิดในร่างกาย รวมทั้งการดูแลร่างกาย เช่น รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การลดน้ำหนักเกิน เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวควรได้รับคำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตนและการใช้ยา รวมทั้งผลข้างเคียงของยา สำหรับบางรายแพทย์อาจจะสอบวิธีการปรับยาขับปัสสาวะด้วยตนเองถ้าเป็นไปได้

          สำหรับวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น ใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือเปลี่ยนหัวใจ (heart transplant) การรุนแรงมากขึ้น แพทย์จะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไปครับ นั่นคือการรักษาผู้ป่วยในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยทั่วไป ซึ่งถ้ามีอาการเฉียบพลันก็มักจะต้องรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นที่สิ้นเปลือง รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีนักของผู้ป่วยที่ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ

          สำหรับการรักษาในปัจจุบัน มีหลายวิธีอย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว แต่ วันนี้ผมจะเล่าถึงการรักษาง่าย ๆ ที่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะละเลยไป แต่ปรากฏว่าได้ประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นก็คือการทีมีใครสักคน (ในที่นี้เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์) คอยติดตามเอาใจใส่ดูแลให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจ ล้มเหลวอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ความรู้ก่อนออกจากโรงพยาบาล โทร.ติดตามอาการและให้คำปรึกษาเบื้องต้นหลังจากผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้านแล้ว เป็นระยะ ๆ

          มีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า การเอาใจใส่จากทีมบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมีอัตราการตายลดลง รวม ทั้งการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็ลดลงอย่างชัดเจน ง่าย ๆ แค่นี้เองครับ ไม่ต้องกินยาเพิ่ม ไม่ต้องผ่าตัดหรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ แต่สิ่งที่ต้องทำสม่ำเสมอคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจในภาวะเจ็บป่วย รวมทั้งการดูแลสุขภาพให้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

          แต่การที่จะทำให้สำเร็จได้ต้องทำงานกันเป็นทีมครับ ทีมงานนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Heart Failure Team ซึ่ง ผมขอตั้งชื่อเองว่า "ทีมหัวใจล้มเหลว" (ซึ่งฟังแล้วเหมือนผู้ร่วมทีมอกหักผิดหวังทั้งทีม) ทีมนี้ประกอบไปด้วยแพทย์หัวใจที่ชำนาญในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวพยาบาล นักโภชนาการ แพทย์ฟื้นฟูสมรรถ ภาพหัวใจ และนักกายภาพบำบัด ลองดูนะครับว่าการดูแลหัวใจดังกล่าวมันยากสักแค่ไหน

ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนไข้

          คนไข้ต้องชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อดูว่าปริมาณน้ำในร่างกายมากเกินไปหรือไม่ เวลาที่ชั่งน้ำหนักควรเป็นตอนเช้าหลังจากถ่ายปัสสาวะแล้ว และก่อนรับประทานอาหารเช้า รวมทั้งจดบันทึกน้ำหนักทุกวัน ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 2 กิโลกรัมในหนึ่งวัน ควรรายงานแพทย์...เพราะน้ำหนักที่เกินมา 2 กิโลกรัม จะเท่ากับว่ามีน้ำคั่งค้างอยู่ในตัว 2 ลิตร

          ในบางกรณี อาจจำเป็นที่จะต้องจำกัดปริมาณน้ำรวมทั้งของเหลวอื่น ๆ (โดยเฉพาะในบางรายที่การทำงานของไตเสื่อมไป) ที่ดื่มหรือรับประทานในแต่ละวัน ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าปริมาณน้ำที่จะจำกัดคือเท่าไหร่

          จดบันทึกรายการอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เพื่อควบคุมปริมาณเกลือโซเดียมที่รับประทาน ทั้งนี้ ปริมาณเกลือที่มากเกินไปจะทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายคั่งค้าง (เพราะเกลือจะดูดน้ำไว้ได้มาก) ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ในแต่ละวันควรจำกัดปริมาณเกลือโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน ซึ่งประมาณเกลือเกือบ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาประมาณ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น จะเห็นว่าอาหารที่รับประทานในแต่ละวันปริมาณเกลือจะเกินอยู่แล้ว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรส รับประทานอาหารรสจัด อาหารที่มีผงชูรส (มีเกลือโซเดียม แต่ไม่มีรสเค็ม) อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง เป็นต้น

          คนไข้ต้องหมั่นสังเกตอาการตนเองว่ามีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบ เช่น อาการบวม นอนราบไม่ได้ หรือเหนื่อยผิดปกติ ถ้าเริ่มมีอาการที่ผิดปกติไป ควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ หรือติดต่อรายงานตัวกับทีมแพทย์ที่ดูแลเรื่องหัวใจล้มเหลวโดยเฉพาะ

          การออกกำลังกายที่ง่าย ๆ และทำได้เกือบทุกคน เช่นการเดินก็สามารถทำได้ โดยเริ่มจากการเดินช้า ๆ แล้วพักเป็นช่วง ๆ จดบันทึกการออกกำลังกายเพื่อให้แพทย์ปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมดียิ่ง ขึ้นได้ ถ้าทำได้ดีและสม่ำเสมอก็จะทำให้หัวใจแข็งแรงดีขึ้น โอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะลดน้อยลง ดังนั้น ถ้าใครมีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้วแพทย์ยังไม่ได้วางโปรแกรมการออกกำลังกายให้ ท่าน แสดงว่าท่านยังไม่ได้รับการรักษาเต็มที่ครับ




credit http://health.kapook.com/view26572.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก