อากาศเปลี่ยน...ระวังทอนซิลอักเสบ


ทอนซิลอักเสบ

อากาศเปลี่ยน...ระวังทอนซิลอักเสบ (Lisa)

          เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หลายคนไม่ทันระวังตัว อาจทำให้มีไข้เจ็บคอ และป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบได้

          ฮิคารุ อูทาดะ (Hikaru Utada) นักร้องแห่งแดนปลาดิบต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการต่อมทอนซิลอักเสบทุก ๆ ปี ปีละครั้งถึงสองครั้ง และทุกครั้งที่ป่วยต้องล้มหมอนนอนเสื่อ แถมยังต้องไปหาหมอทุกวัน เพื่อเอายามาบรรเทาอาการ ต่างจากนักร้องแห่งเมืองผู้ดี วิลล์ ยัง (Will Young) ที่ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก ทั้งที่รู้สึกกังวลว่าการผ่าตัดอาจส่งผลให้เสียงของเขาผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่เมื่อผ่านพ้นไปได้ก็พบว่า การตัดไม่ได้ส่งผลต่ออาชีพที่เขารักแต่อย่างใด

          ความรู้สึกกังวล ที่ว่านี้ นักร้องสาว ลีโอน่า ลูอิส (Leona Lewis) ผู้ชนะเลิศจากรายการ The X Factor ปี 2006 อาจเข้าใจดี เพราะเธอก็รู้สึกกลัวที่จะผ่าตัดต่อมทอนซิลออกเธอรีรอจนคนใกล้ชิดและหมอ บังคับให้เธอผ่าตัด ก่อนที่อะไร ๆ จะเลวร้ายไปกว่านี้ ผิดกับนักแสดงสาว โซเฟีย บุช (Sophia Bush) ที่ยอมเลือกการผ่าตัด เพื่อจะได้ไม่ต้องป่วยกระเสาะกระแสะ และจะได้กลับมาโลดแล่นในวงการมายาได้เหมือนเดิม

ต่อมทอนซิล...สำคัญยังไงเนี่ย

          ต่อมนี้เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งในร่างกายของเรา ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันให้เรา โดยหน้าที่อันหลังนี้จะมีความสำคัญมากกับเด็กวัย 1-10 ขวบ และหลังจากนั้นระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ไขกระดูก ม้าม ตับ ฯลฯ ก็จะทำหน้าที่ในส่วนนี้แทนต่อมทอนซิล

แล้วมีกี่ต่อม

          ต่อมทอนซิลมีทั้งหมด 3 ต่อมด้วยกัน ต่อมที่หนึ่งอยู่ตรงลำคอ ทางการแพทย์เรียกว่า Palatine Tonsils โดยเวลาอ้าปากจะมองเห็นได้ทันทีเลย ส่วนต่อมที่สองอยู่ตรงโคนลิ้น ซึ่งจะมีกลุ่มต่อมน้ำเหลืองเยอะมาก ทางการแพทย์เรียกกลุ่มนี้ว่า Lingual Tonsils และต่อมสุดท้ายจะอยู่ตรงโพรงหลังจมูก ทางการแพทย์เรียกว่า Adenoid อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะโครงสร้างต่อมทอนซิลตรงลำคอของบางคน มีลักษณะพื้นผิวอาจจะเป็นร่องเป็นหลืบที่เชื้อโรคอาจจะไปติดอยู่ในนั้น และทำให้ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบได้ง่ายกว่าคนอื่น

อะไรคือสาเหตุ

          สาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียสำหรับแบคทีเรียอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีลิ้นหัวใจรั่วจากไข้รูมาติก หรือเกิดโรคไตอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง หรือรักษาช้าไป ส่วนถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ จะมีอาการเจ็บคอและคออักเสบได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง

อาการเป็นยังไงบ้าง

          คนที่ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ร่องหลุมของทอนซิลในลำคอจะลึกมากขึ้น เหมือนคนเป็นแผลเป็น และเมื่อมีร่องหลุมลึกมากขึ้น เชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตหรือมีเศษอาหารไปติดได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ต่อมทอนซิลมีเชื้อโรคสะสมอยู่ตลอดเวลา บวกกับถ้าคนนั้นร่างกายอ่อนแอเพราะนอนดึก ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เชื้อที่มีอยู่แล้วในต่อมทอนซิลก็อาจจะอักเสบขึ้นมาได้

          คนที่มีอาการป่วยแบบเฉียบพลัน จะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ และเวลากลืนน้ำลายจะเจ็บร้าวไปที่หูกินอาหารไม่ลง อ่อนเพลีย ในเด็กเล็กมาก ๆ ก็จะร้องไห้แล้วน้ำลายไหลทางมุมปากไม่หยุด และมีไข้ตัวร้อน บางคนเป็นมากหนองจะลุกลามไปรอบ ๆ ต่อมทอนซิล ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอตึงตัว ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น หมอจึงต้องเจาะหนองออกมา

ดูแลตัวเองได้ไหม หรือต้องไปพบแพทย์เท่านั้น

          ถ้าเป็นไม่มาก แค่ติดเชื้อไวรัสอาจจะรอดูอาการสัก 2-3 วัน โดยดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอก็จะดีขึ้น แต่ถ้า 2-3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นแสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรียเข้าให้แล้ว ดังนั้น ควรต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ ซึ่งไม่อยากให้ซื้อกินเอง ควรไปพบแพทย์จะดีกว่า

รักษายังไงดี

          ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ไข้ และยาแก้เจ็บคอ ถ้าหากปล่อยให้เรื้อรังเชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ เกิดโรคหัวใจรูมาติก หรือกรวยไตอักเสบ ฯลฯ ได้ ฉะนั้น ถ้ารอดูสัก 2-3 วันแล้วยังเจ็บคออยู่ ควรรีบมาพบแพทย์ว่าเป็นทอนซิลอักเสบ หรือทอนซิลเป็นหนองหรือเปล่า โดยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด 4-5 วันแรกแพทย์จะให้กินอาหารเหลวเย็น หลังจากนั้นถ้านัดมาตรวจอีกสัปดาห์หนึ่งแล้วไม่เจ็บแผลมาก แพทย์จะเริ่มให้กินอาหารอ่อน ๆ เหลว ๆ ที่ไม่ร้อน เพราะการกินอาหารร้อนจะทำให้เส้นเลือดจะขยายตัว เกิดเลือดออกหลังการผ่าตัดได้ แต่พอครบสองสัปดาห์ก็จะกินอาหารได้ปกติทุกอย่าง และกลับไปทำงานได้ ซึ่งคนที่แข็งแรงก็อาจจะกลับไปทำงานได้ภายในสัปดาห์แรก

ถ้าผ่าตัดแล้วจะป่วยบ่อยไหม

          ต่อมทอนซิลมีความสำคัญสำหรับเรื่องภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กวัย 1-10 ปี แต่หลังจากนั้นระบบอื่น ๆ ในร่างกายจะทำหน้าที่ป้องกันโรคแทนต่อมทอนซิล ฉะนั้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ควรได้รับการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักสงสัยว่า ถ้าผ่าตัดแล้วจะป่วยบ่อยขึ้นมั้ย หรือเสียงจะเปลี่ยนไปมั้ย ตรงนี้ขอฟันธงว่าผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังการผ่าตัด และเสียงก็ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะต่อมทอนซิลไม่เกี่ยวกับการออกเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะอะไรแพทย์ตะวันตกจึงไม่นิยมผ่าตัด

          แพทย์ตะวันตกบางรายเท่านั้นที่ไม่นิยมให้มีการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่ที่แพทย์เจอคนไข้ 50% ที่เป็นคนต่างชาติล้วนเคยผ่านการผ่าตัดต่อมทอนซิลมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งในความคิดแพทย์แล้วเห็นว่า ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดจริง ๆ ก็ไม่เสียหายอะไรเพราะการที่ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ก็จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปตลอด ฉะนั้น การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า

          สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ต่อมทอนซิลที่คอก็จะโต และต่อมทอนซิลที่อยู่ตรงโพรงหลังจมูก (Adenoid) ก็จะโตตามไปด้วยตนขวางระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก ในรายที่กรนหรือหยุดหายใจขณะหลับฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งได้ไม่เต็มที่ ซึ่งทำให้เด็กแคระแกรนได้

ทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ จะพัฒนาเป็นมะเร็งไหม

          จากการศึกษาไม่พบว่าการป่วยเป็นทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้ ในทางกลับกัน คนที่สูบบุหรี่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้ง่าย เช่น มะเร็งในจมูก มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งในคอ มะเร็งในช่องปาก ไปจนถึงมะเร็งปอด ฯลฯ

          อย่างที่บอกว่าต่อมทอนซิลเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อใดที่ต่อมนี้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแล้วล่ะก็ การผ่าตัดทิ้งไปก็ไม่เสียหายอะไรหรอกค่ะ

Did You Know?

          ระยะหลังมีผู้ใหญ่เข้ามาผ่าตัดทอนซิลด้วยเหตุผลว่ามีกลิ่นปาก อันมีเหตุมาจากมีหนองที่ต่อมทอนซิลเพราะโครงสร้างของต่อมทอนซิลบริเวณลำคอ เป็นร่องลึก จึงทำให้มีเศษอาหารตกค้างอยู่ในต่อมทอนซิลนาน ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ชอบสภาพร่องหลืบนั้นเติบโตได้ดี แต่ถ้าผ่าตัดก็แก้ปัญหานี้ได้

Be Careful!

          หลังการผ่าตัด 1-2 วันแรก คนไข้อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ แต่ถ้าหลังจากนั้นยังมีไข้อยู่ หรือมีไข้สูงตั้งแต่แรก แสดงว่าอาจเกิดการติดเชื้อ หรือขาดน้ำควรรีบไปพบแพทย์ทันที

คำแนะนำจาก นพ.ภาสกร ถาวรนันท์ แพทย์หู คอ จมูก รพ.บีเอ็นเอช

          "ทำไมบางคนป่วย แต่บางคนกลับไม่เคยป่วย ก็เพราะโครงสร้างของต่อมทอนซิลในบางคนนั้นอาจมีหลุมเยอะ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้มาก นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนคนนั้นด้วย สมมติว่าเขาพักผ่อนน้อย นอนดึกประจำ และไม่ได้ออกกำลังกายเลย เวลารับเชื้ออะไรมาก็จะป่วยได้ง่ายกว่า คนอื่นที่แข็งแรงกว่าอยู่แล้ว"



http://health.kapook.com/view7767.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก