สธ.มะกันค้นเหตุ นักวิจัย ติดกาฬโรค ดับปริศนา


สธ.มะกันค้นเหตุนักวิจัยติดกาฬโรคดับปริศนา (ไทยรัฐ)

           ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลใดชี้ชัดได้ว่าคาซาดาบันเริ่มติดเชื้อได้อย่างไร และเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุที่ทำให้คาซาดาบันถึงแก่ชีวิตหรือไม่ ... 

           สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (23 ก.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ เร่งหาข้อพิสูจน์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนายมัลคอล์ม คาซาดาบัน นักวิจัยค้นคว้ากาฬโรค วัย 60 ปี ที่เสียชีวิตได้ไม่นาน หลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผลการชันสูตรศพ พบเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลใด ชี้ชัดได้ว่า คาซาดาบันเริ่มติดเชื้อได้อย่างไร และเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่ทำให้คาซาดาบันถึงแก่ชีวิตหรือไม่ เพราะสายพันธุ์แบคทีเรียที่ลดความรุนแรงจากห้องทดลอง ซึ่งไม่มีใครรู้แต่ก็ทำให้คนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงเกิดล้มป่วย จึงมักใช้วัคซีนป้องกันการติดกาฬโรค แต่ไม่ถึงกับมีมาตรการป้องกันระดับพิเศษสำหรับงานศึกษาค้นคว้าทั่วไปภายใน ห้องแล็บ 
           นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังติดตามคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับคาซาดาบัน ซึ่งอาจเริ่มมีอาการ ภายในช่วง 2-10 วัน ซึ่งก็ไม่พบว่า มีใครแสดงอาการใดออกมา แต่ก็ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า ทุกปีจะมีคนติดเชื้อกาฬโรค ซึ่งเกิดจากหมัดหนู หรือเหลือบไรกัด หรือจากสัตว์ที่ติดเชื้อกาฬโรคราว 1,000-3,000 คน และกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากคนสู่คนในสหรัฐฯ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดปี 2467 หรือ 85 ปีมาแล้ว

           ขณะเดียวกัน สถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ แนะนำว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ขวบ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 2 โดส ส่วนเด็กที่อายุ 10 ปีขึ้นไป รับโดสเดียว ด้านผลการวิจัยซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสารแลนเซต เผยว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ไปเร่งอาการหัวใจวาย และอาจถึงตาย 30-50% ช่วงไข้หวัดตามฤดูกาล แต่การฉีควัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ 2009 ช่วยลดอัตราเสี่ยงได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก