มาลาเรีย สายพันธุ์ใหม่ จาก ลิง สู่ คน


มาลาเรีย
โรค มาลาเรีย สายพันธุ์ใหม่

มาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ จาก ลิง สู่ คน
(เดลินิวส์)
โดย : นวพรรษ บุญชาญ

         จากกรณีที่พบผู้ป่วยโรค ไข้มาลาเรีย สายพันธุ์ใหม่ ในประเทศไทย ปี 2552 จำนวน 3 ราย คือ จันทบุรี 1 ราย และ ยะลา 2 ราย โดยตรวจพบเชื้อ “พลาสโมเดียม โนวซี่” (Plasmodium Knowlesi) ซึ่งเดิมเชื้อนี้มีอยู่ในลิง แต่กลับติดต่อและทำให้เกิดโรคในคนได้ คงจะทำให้ผู้อ่านอยากรู้รายละเอียดโรค ไข้มาลาเรีย มากขึ้น
   
         เกี่ยว กับเรื่องนี้ นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า โรค ไข้มาลาเรีย เป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อ “พลาสโมเดียม” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเป็นสัตว์เซลล์เดียว มีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง
   
         เชื้อ มาลาเรียในประเทศไทย ที่พบมาเป็น 100 ปีแล้วมี 4 ชนิด ที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม (Plasmodium falciparum) บริเวณชายแดนไทย-พม่า พบร้อยละ 70 ส่วนด้านชายแดนไทย-กัมพูชา พบร้อยละ 50 มีระยะแบ่งตัวอย่างครบวงจรในเลือด 48 ชั่วโมง ที่พบรองลงมาอีก 3 ชนิด คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) พลาสโมเดียม มาลาเรียอี่ (Plasmodium malariae)และ พลาสโมเดียม โอวาเล่ (Plasmodium ovale) ระยะการแบ่งตัวในเลือดประมาณ 48-72 ชั่วโมง โดย 2 ชนิดหลังนั้นพบผู้ป่วยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
   
         “พลาสโมเดียม โนวซี่” เป็น เชื้อมาลาเรียชนิดที่ 5 ทำให้เกิดไข้มาลาเรียในลิงแสม และลิงกัง เป็นส่วนใหญ่ และเริ่มมีรายงานพบในคน โดยในประเทศมาเลเซียมีรายงานพบในรัฐซาราวัก ซาบา และปาหัง ในปี 2544-2549 มีผู้ป่วย 266 ราย จากการตรวจทั้งหมด 960 ราย นอกจากนั้น ยังมีรายงานผู้ป่วยประปรายที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า
   
         เชื้อชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคล้ายกับเชื้อ “พลาสโมเดียม มาลาเรียอี่” ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้น้อยมากไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยจากเชื้อ มาลาเรีย “พลาสโมเดียม โนวซี่” จะมีอาการสำคัญเหมือนกับมาลาเรียชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ตัวร้อนและเหงื่อออก แต่เชื้อจะมีการแบ่งตัวครบวงจรในเลือดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณเชื้อจะมีมากขึ้นในร่างกายและจะไปอุดตันตามเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงตับ ไต ทำให้เกิดไตวาย ตับวาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย
   
         ในประเทศไทย เคยพบเชื้อมาลาเรีย “พลาสโมเดียม โนวซี่” โดยบังเอิญในปี 2543 โดย รศ.นพ.สมชาย จงวุฒิเวศย์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำการย้อมเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรค ไข้มาลาเรีย เพื่อที่จะนำมาพัฒนาชุดตรวจ ดีเอ็นเอ ปรากฏว่าได้ผลเป็นลบ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าไม่ใช่ ไข้มาลาเรีย ใน 4 ชนิดที่เกิดจากยุงก้นปล่องที่พบในบ้านเรา แต่เป็นชนิดที่ 5 คือ มาลาเรียลิง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ “พลาสโมเดียม โนว ซี่” โดยมาลาเรียลิงมีประมาณ 20-30 ชนิด แต่ที่ก่อให้เกิดโรคในคนมีประมาณ 5 ชนิด
   
         เมื่อ ทำการตรวจสอบประวัติเจ้าของเลือดย้อนหลัง พบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค ไข้มาลาเรียลิงรายแรกของไทย เป็นผู้ป่วยชายที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อายุประมาณ 30 กว่าปี ได้รับเชื้อมาลาเรียลิงในปี 2543 จากการไปค้างแรมในป่า และติดเชื้อจากลิงแสม อาการไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีอาการไข้สูงเหมือนกับการติดเชื้อมาลาเรียทั่วไป การตรวจพบในครั้งนี้ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศแล้ว
   
         สำหรับ กลุ่มที่ต้องระวังตัวจาก ไข้มาลาเรีย เป็นพิเศษ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เพราะมีโอกาสที่จะถูกยุงก้นปล่องกัดและแพร่เชื้อ ไข้มาลาเรีย ได้ ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่ หรือเข้าไปในบริเวณป่าเขา ขอให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองอย่าให้ถูกยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด

          หากมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ หลังกลับออกจากป่าหรือพื้นที่ที่มีการ ระบาดของโรค ขอให้นึกถึงโรค ไข้มาลาเรีย ไว้ก่อน และรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าด้วย เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียและให้ยารักษาที่ตรงกับเชื้อ ซึ่งขณะนี้ยาที่ใช้รักษายังได้ผลดี แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้รักษาหายขาดและไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://health.kapook.com/view4555.html