กระดูกพรุน! ภัยเงียบที่คนมองข้าม



กระดูกพรุน! ภัยเงียบที่คนมองข้าม (ไทยรัฐ)
          ตื่น ตื่นกันได้แล้วค่ะ!! จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า สถิติ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสอง รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด และอายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ 

          โดย เฉพาะผู้หญิงกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกต้องทุกข์ทรมานจากโรคนี้ ในส่วนของเมืองไทยเป็นที่กล่าวถึงกันมานาน และเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม โดยข้อมูลที่มีการสำรวจพบก็คือ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุน สัดส่วน 1 ใน 3 คน ฝ่ายผู้ชายกลับพบ 1 ใน 5 โดยแต่ละคนต้องสูญเสียค่ารักษาเฉลี่ยปีละ 3 แสนบาท

          ศ.เกียรติคุณ นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ ผอ.ศูนย์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย และประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุน เผยว่า โรค กระดูกพรุน คือ โรคที่เกิดกับกระดูก เพราะมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง ทำให้เนื้อกระดูกมีความบาง โปร่งจนถึงพรุน และแตกหักได้ง่าย การสูญเสียมวลกระดูกจะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ ก็สายเสียแล้ว 
          วิธีเลี่ยงไม่ให้กระดูกพรุน ต้องปฏิบัติตั้งแต่เกิดไปจนตลอดชีวิต โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ แรกเกิด จนอายุ 30 ปี สะสมเนื้อกระดูกให้หนาแน่นสุด ทั้งดื่มนม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และขยันเอ็กเซอร์ไซส์ เลยวัย 30 อัพก็ต้องป้องกันไม่ให้สูญเสียเนื้อกระดูก ดื่มนมวันละ 500 ซีซี และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาร้าสุก กะปิ ปลาป่น กุ้งแห้งป่น พวกผัก งา ออกกำลังกายกลางแดดวันละ 30 นาที ช่วงเช้า 06.00-09.00 น. หรือช่วงเย็น 15.00-18.00 น.

          ระยะสุดท้าย คือวัยทอง เป็นช่วงที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ คอยยับยั้งการสลายกระดูก ฉะนั้นเมื่อขาดฮอร์โมนเพศ การสลายกระดูกจึงเพิ่มขึ้น จนทำให้สูญเสียเนื้อกระดูกได้ปีละ 3-5% ช่วงนี้ต้องดูแลเต็มที่ คือ ยับยั้งการสลายกระดูกด้วยยาชนิดต่างๆ ควบ กับการดื่มนมพร้อมรับประทานอาหารแคลเซียมสูง ออกกำลังกายกลางแจ้งวันละ 30 นาที ถ้าตากแดดไม่พอก็ต้องรับประทานวิตามินดีเสริม พ่วงด้วย วิตามินซี บี 6 และเค 2 ที่จะช่วยในการสร้างกระดูก
          แต่ ปัญหาที่น่าห่วงก็คือ คนไทยได้รับแคลเซียมจากอาหารเพียงวันละ 361 มิลลิกรัมเท่านั้น ทั้งที่ความต้องการแคลเซียมในแต่ละวันของวัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน โดยเด็กๆ ควรได้รับประมาณ 600 มก./วัน ขณะที่วัยรุ่นควรได้รับ 1,000-1,500 มก., ผู้ใหญ่ 800-1,000 มก., หญิงตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียม 1,500 มก., ช่วงวัยทองยิ่งต้องการมาก เฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 มก.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก