รับมือก่อนโรคภูมิแพ้กำเริบ


โรคภูมิแพ้

วิธีช่วยรับมือ ก่อกำเริบ! โรคภูมิแพ้ (ไอเอ็นเอ็น)

           เมื่อพูดถึงอากาศบ้านเราในช่วงนี้ เป็นอะไรที่น่าสับสนจนเดาใจไม่ถูก เพราะในแต่ละวัน อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยไม่คงที่ ทั้ง ฝนตก แดดออก อับชื้น ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ เกิดภาวะเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะบ้านที่มีประวัติภูมิแพ้ ยิ่งได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ

           ยังรวมไปถึงสารก่อภูมิแพ้ในอากาศที่พบได้ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ซึ่งหากได้รับมากเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้อาการภูมิแพ้ที่มีอยู่เดิมกำเริบได้! ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือ คือ หลีกเลี่ยง และกำจัดสิ่งที่คนในบ้านแพ้ออกไปให้หมด

           สำหรับวิธีการรับมือกับเจ้าสารก่อภูมิแพ้ด้วยตัวเองง่าย ๆ วันนี้ ทีมงาน Life and Famiy มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากคลินิก คอ หู จมูก โรงพยาบาลเวชธานี มาฝากกัน แต่ก่อนจะไปรับรู้ถึงวิธีการรับมือดังกล่าว เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงตัวโรคภูมิแพ้ได้ดีขึ้น ทีมงานขออธิบายให้เข้าใจก่อนว่า

           โรค ภูมิแพ้มาจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวต่อสารก่อภูมิแพ้เ ร็วเกินไป ซึ่งไม่ค่อยก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป แต่จะส่งผลต่อคนในบ้านที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย สารภูมิคุ้มกันชนิดอี หรือ Immunoglobulin (E: IgE) ที่ถูกสร้างขึ้น จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย เป็นผลทำให้เซลล์บางชนิด มีการแตกตัว และหลั่งสารเคมีออกมาทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคตามมา

           หากแบ่งสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สารก่อภูมิแพ้ที่พบในบ้าน เช่น ไรฝุ่น สปอร์เชื้อรา ซากแมลงสาบ สัตว์เลี้ยงในบ้าน และสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้นอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรหญ้า เชื้อรา วัชพืช ต้นไม้ เป็นต้น โดยสมาชิกที่มีปฏิกิริยาการแพ้ หรือมีภูมิไวเกินไป เมื่อได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณที่มากพอ จะเข้าไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้จนกำเริบ ขึ้นมาได้ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา คันจมูก เป็นต้น

เทคนิครับมือ "5 ตัวการ" ก่อภูมิแพ้กำเริบ!

แพ้ไรฝุ่น

           ตัวไรฝุ่น หลายคนอาจไม่เคยนึกมาก่อนว่า ตัวแบบนี้ มีด้วยหรือ ซึ่งจากข้อมูลที่ทีมงานได้รับมานั้น อธิบายไว้ว่า ตัวไรฝุ่น คือ สัตว์จำพวกแมลงที่มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 10-30 ไมครอน ซึ่งแน่นอนว่า มนุษย์อย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สัตว์ประเภทนี้ จะมี 8 ขา ลักษณะคล้ายกับแมงมุม เห็บ และหมัด ชอบอยู่ในที่อุ่นชื้น โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องนอน เช่น หมอนหนุน ที่นอนพรม เฟอร์นิเจอร์ และตุ๊กตาของเล่นที่ทำจากผ้า ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญคือ โปรตีนจากตัวไรฝุ่นเอง รวมทั้งมูลของไรฝุ่น

วิธีรับมือ

           1. คลุมที่นอน หมอน ด้วยผ้าที่มีช่องระหว่างเส้นใยเล็กมาก จนตัวไรฝุ่น และมูลของมัน ไม่สามารถผ่านเข้าไปได้

           2. ซักผ้าปูที่นอน และผ้าห่มทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที

           3. เช็ดทำความสะอาดบานเกล็ด ม่าน เครื่องเรือน และถูพื้นด้วยผ้าเปียกทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อขจัดฝุ่นละออง

           4. ควรนำของเล่น สมุด หนังสือ พรม หรือตุ๊กตา ออกไปไว้นอกห้องนอน หรือหาตู้เก็บอย่างมิดชิด

           5. การใช้สารกำจัดไรฝุ่นจำพวก Tannic acid หรือ Acaricide พบว่า ได้ผลดีในห้องทดลองปฏิบัติการ แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องของความปลอดภัย และประสิทธิภาพ

           6. สำหรับเครื่องกรองอากาศ หรือฟอกอากาศ อาจมีผลช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นได้บ้าง แต่ถึงกระนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถช่วยให้อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทุเลาลง

แพ้ซากของแมลงสาบ

           บ้านที่ขาดการดูแล อาจเป็นที่สะสมของซากสัตว์ในบ้านอย่างแมลงสาบได้ ดังนั้น วิธีการรับมือ คือ ดูแลรักษาบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ เริ่มตั้งแต่ ภาชนะเก็บเศษอาหาร ควรมีฝาปิดมิดชิด จากนั้น ควรกำจัดขยะ และเศษอาหารภายในบ้านทุกวัน อย่างไรก็ตาม การจำกัดแมลงสาบ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงด้วย หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เข้ามาฉีดยาขจัดแมลงในบ้านเป็นระยะ

แพ้สัตว์เลี้ยง

           สารก่อภูมิแพ้จากแมว พบได้จากรังแค ขน น้ำลาย ซีรั่ม และปัสสาวะ ส่วนสุนัขพบได้จาก รังแค ขน และน้ำลาย ซึ่งอนุภาคของสารก่อภูมิแพ้ชนิดนี้ มีขนาดเล็ก ล่องลอยอยู่ในอากาศ และมักมีการเคลื่อนที่ไปอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั้งภายในบ้าน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ ยังสามารถคงอยู่ได้นานถึง 6 เดือน แม้ว่าจะมีการนำสัตว์เลี้ยงออกไปแล้วก็ตาม

วิธีรับมือ

           หากไม่สามารถงดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ อย่างน้อยควรมีการแยกออกไป ทั้งจากบริเวณห้องนอน หรือที่พักผ่อนเป็นประจำ สำหรับในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยไม่ควรเล่นโดยการคลุกคลีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนการติดตั้งเครื่องกรองอากาศประเภทที่มีประสิทธิภ าพการกรองสูง มีประโยชน์ในแง่ของการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ล่องล อยอยู่ในอากาศได้

แพ้สปอร์ของเชื้อรา

           เชื้อราในธรรมชาติ สามารถพบได้ทั้งใน และนอกบ้าน มักเกิดขึ้นในที่อับชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่มีใบไม้ร่วงทับทมกัน

วิธีรับมือ

           1.หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ใส่กระถางไว้ในตัวบ้าน

           2. หมั่นดูแล และกำจัดใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น หรือเศษหญ้าที่ชื้นแฉะ

           3. ทำความสะอาดห้องน้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้น และผนัง ม่านพลาสติก ใต้อ่างล้างมือ โถส้วม และตามซอกมุม ซึ่งมักพบมีราดำเกิดขึ้น

           4. ทำความสะอาดห้องครัว ตู้เก็บอาหาร และตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งน้ำท่วมขัง

           5. เปิดห้องให้มีอากาศถ่ายเท เพื่อลดความอับชื้น และแสงแดดส่องถึง

แพ้ละอองเกสรหญ้า และวัชพืช

           ละอองเกสรหญ้า มักจะมีขนาดเล็ก และเบา สามารถปลิวตามลม และแพร่กระจายไปได้ไกล แม้ว่าจะไม่มีพืชชนิดนั้นในบริเวณบ้าน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

วิธีรับมือ
           ถ้าในบ้านมีสนามหญ้า ควรทำการตัดหญ้า และวัชพืชในสนามบ่อย ๆ โดยส่วนใหญ่ ในฤดูที่มีการกระจายของเกสรมาก จะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี การปิดประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันละอองเกสรจากนอกบ้าน อาจช่วยลดอัตราการสัมผัสกับละอองเกสรได้ หรืออาจติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพช่วย กรองด้วยก็ได้

           อย่างไรก็ตาม นอกจากวิธีหลีกเลี่ยงในสิ่งที่แพ้แล้ว การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เต็มที่ หลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคือง จะช่วยให้สมาชิกในบ้านทุกคน มีภูมิคุ้มกันที่ดี และควบคุมอาการของโรคภูมิแพ้ไม่ให้กำเริบได้อีกด้วย


http://health.kapook.com/view17643.html