ท้องร่วง กวนใจ

ท้องร่วง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          โรคท้องร่วง ถือเป็นโรคหนึ่งที่คนเป็นกันมาก มักเกิดจากการติดเชื้อเมื่อรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป และยังเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฤดูกาลอีกด้วย ว่าแล้ววันนี้กระปุกดอทคอมก็มีข้อมูลเรื่อง โรคท้องร่วง มาฝากกันด้วยค่ะ

แบบไหนถึงเรียกว่า โรคท้องร่วง


          โรคท้องร่วง (Diarrhea) คือ การที่ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวปนเลือดเพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้โดยทั่วไป อาการท้องร่วง จะหายได้เองใน 2-3 วัน โดยที่ไม่ต้องรักษา ถ้าเป็นนานกว่านั้น อาจหมายถึงเป็นอาการอื่น อย่างไรก็ตามแม้อาการท้องร่วงจะไม่อันตราย แต่จะทำให้ขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ซึ่งถ้าเป็นมากก็ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้เช่นกัน

สาเหตุของ โรคท้องร่วง แบ่งออกเป็น

1.การติด เชื้อโรคท้องร่วง

          การ ติด เชื้อโรคท้องร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป โดยผู้ป่วยมักจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดร่วมกับอาเจียน และมีไข้สูง อ่อนเพลีย ทั้งนี้ เชื้อโรคท้องร่วง มีหลายตัว คือ

          เชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อโรคที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดท้องร่วง เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า ทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง อาจนานเป็นปี ในเด็กทารกและผู้สูงอายุ หากได้รับเชื้อนี้ เชื้ออาจไชทะลุผ่านผนังลำไส้เข้าไปในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้อวัยวะภายในอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมีเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อที่ทำให้ท้องเสียบ่อยที่สุด ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว หรือเชื้อสแตฟฟีโลคอคคัส ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ อาเจียนและท้องเสีย

          เชื้อบิด ทั้งชนิดไม่มีตัว และมีตัว ทำให้ถ่ายเป็นมูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำ โดยเชื้อบิดมีตัวอาจทำให้เกิดแผลใหญ่ในลำไส้ได้ จึงทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

          เชื้อไวรัส ได้แก่ rotavirus, Norwalk virus
         
          เชื้อพยาธิ เช่น Giardia lamblia

          เชื้ออหิวาต์ ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว

2.เกิดจากการทานนม ในบางคนอาจไม่มีเอนไซม์แลคเตส ที่จะมาช่วยย่อยนม โดยอาการของผู้ที่ขาดแลคเตส จะเกิดหลังดื่มนมสดไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นจะรู้สึกโครกครากในท้อง ปวดท้องแบบปวดบิด ๆ และมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำ 1-2 และหายไป

3.เกิดจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาปฏิชีวนะ ยาระบาย

4.เกิดการอักเสบของลำไส้

อาการของ โรคท้องร่วง

          ผู้ติดเชื้อโรคท้องร่วง จะมีอาการแน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายบ่อยครั้งและเป็นน้ำ อาการท้องร่วงแบบได้ 2 ชนิดคือ

          1. อาการท้องร่วงเฉียบพลัน คืออาการท้องร่วงที่เป็นทันทีทันใด แต่เป็นระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์

          2.อาการท้องร่วงชนิดเรื้อรัง คือ อาการท้องร่วงที่เป็นติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์และบางรายอาจเป็นนานถึงเดือน หรือมีอาการเป็นพัก ๆ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่

          ผู้ป่วยท้องร่วงควรพบแพทย์เมื่อมีอาการ ปวดท้องมาก , มีไข้มากกว่า 38.5 องศา ,ท้องร่วง นานเกิน 3 วัน ,มีเลือดในอุจจาระ หรืออุจจาระดำ รวมทั้งมีอาการขาดน้ำ คือมักจะหิวน้ำบ่อย ผิวหนังแห้ง รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยปัสสาวะ รวมทั้งเวลาเปลี่ยนจากท่านอนเป็นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลม


การรักษา โรคท้องร่วง

          ทำ ได้โดยป้องกันการขาดน้ำ ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORSสูตรขององค์การเภสัชกรรม หรือองค์การอนามัยโลก โดยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่

          หากผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ดื่มครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว โดยใช้ช้อนค่อย ๆ ป้อนที่ละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้ดูดจากขวดนม เพราะเด็กจะดูดกินอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระหายน้ำ จะทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันและอาจทำให้อาเจียนและถ่ายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือนม ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

          หากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว

          นอก จากนี้เราอาจเตรียมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS ได้เอง โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว คนให้ละลายและเข้ากันดี ถ้าดื่มไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงให้ทิ้งไป แล้วผสมใหม่

ข้อควรปฏิบัติ เมื่อมีอาการท้องร่วง

          1.ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อรักษาอาการขาดน้ำ

          2.ขับถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

          3.กำจัดอาเจียน โดยราดน้ำให้สะอาด และราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้าขาวตามก็ได้

          4.รักษาข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วยให้สะอาด และนำไปซักทำความสะอาด หรือตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย

          5.ล้างมือด้วยน้ำสบู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค

ข้อควรระวัง เมื่อมีอาการท้องร่วง

          1.ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพราะยาฆ่าเชื้อฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย หากเป็นท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัส ยาจะไม่ได้ผล และอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

          2.ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย เพราะการขับถ่ายเป็นกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกาย หากรับประทานยาหยุดถ่ายจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น

การป้องกัน โรคท้องร่วง

          ส่วน ใหญ่แล้ว โรคท้องร่วง มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดเข้าไป ดังนั้นหากจะป้องกัน โรคท้องร่วง ต้องใส่ใจกับการรับประทานอาหาร คือ

          1.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ เพราะอาหารที่ทิ้งไว้นานอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้

          2.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ทุกครั้ง ทั้งก่อนการเตรียมอาหาร ปรุงอาหาร รวมถึงก่อนการรับประทานอาหาร เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

          3.หลีกเลี่ยงอาหารประเภทยำ เพราะอาหารประเภทยำประกอบด้วยผักสด ซึ่งไม่ได้ผ่านการหุงต้ม จึงเสี่ยงต่อเชื้อโรค นอกเสียจากจะปรุงอาหารเอง โดยต้องนำผักมาล้างให้สะอาดเสียก่อน ด้วยการแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำละลายด่างทับทิม หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา

          4.เก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่างดี โดยเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโต และเมื่อนำมาอุ่น ควรอุ่นในอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส

          5.ดูแลรักษาบ้าน โดยเฉพาะห้องครัว ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันหนู แมลงต่าง ๆ ที่เป็นพาหะเชื้อโรค

          6.ล้างภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหารให้สะอาดทุกครั้ง และควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

          7.ควรแยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบและอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากกัน เพราะเนื้อสัตว์ดิบอาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียมา นอกจากนี้อาหารที่ปรุงสุกควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท

          8.ต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำที่กดจากตู้กดทั่วไป เพราะอาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้



http://health.kapook.com/view9574.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- siamhealth.net
- thediarrhea.blogspot.com
- ram-hosp.co.th