ความดันสูง ความดันต่ำ


ความดันสูง ความดันต่ำ (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์


          หากจะพูดถึงโรคความดันโลหิตสูง เชื่อว่าผู้อ่านคงคุ้นเคย เพราะเป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดกันได้บ่อยๆ ทั้งหมอและคนไข้ ที่ว่าเข้าใจผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ตัวเลขความดันโลหิตเท่าไหร่ที่จัดว่าสูง เพราะ โดยทั่วไปก็เข้าใจกันถูกต้องอยู่แล้วว่าถ้าตัวเลขสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ก็จะถือว่ามีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ แต่ปัญหามักจะอยู่ตรงที่ว่า เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าป่วยเป็น "โรคความดันโลหิตสูง" กันแน่

          คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าอาการของโรคความดันโลหิตสูงคือ ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ซึ่งที่จริงแล้ว จากประสบการณ์การเป็นหมอมา 30 ปีของผู้เขียน พบว่าคนไข้ที่ปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูงมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และ ทุกรายที่พบจะมีความดันสูงมากชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากโรคที่พบได้น้อย โดยจะเป็นคนละเรื่องกันกับคนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดศีรษะพร้อม ๆ กับที่มีความดันโลหิตสูง และบ่อยครั้งที่พบว่าเกิดจากความเครียด หรือความกลัวเมื่อปวดศีรษะจนทำให้ความดันสูงได้

         คนที่มีความดันโลหิตสูงอาจไม่มีอาการป่วยให้เห็น แต่ถ้าแสดงอาการ แสดงว่าผลของความดันสูงนั้นกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจโต บีบตัวไม่ปกติ หัวใจล้มเหลว มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ส่วนปัญหาต่อหลอดเลือด เช่น ตามัว ไตเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

         การวัดความดันโลหิตเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือ ไม่นั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่สูงจริงแล้วไปกินยาลดก็จะเกิดอันตราย และต้องเข้าใจก่อนว่า ความดันโลหิตของคนปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ในช่วงหนึ่ง การแกว่งตัวของค่าความดันนี้จะมากขึ้นเมื่อเกิดความไม่ปกติ เช่น ความเจ็บปวด ตื่นเต้น ตกใจ เครียด กังวล เป็นต้น

          การ วัดความดันโลหิตเพื่อดูว่ามีความดันสูงจริงหรือไม่ ต้องวัดหลาย ๆ ครั้งหลังจากที่นั่งพักและผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว และนำค่าทั้งหมดมาพิจารณาดูการแกว่งตัว หากค่าที่วัดได้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติก็ยังไม่ต้องไปใช้ยา ในบางกรณีหมออาจต้องพิจารณาจากสภาพร่างกายหรือความเจ็บป่วยอื่นประกอบด้วย ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลขเท่านั้น
 
          สำหรับเรื่องของความดันโลหิตต่ำนั้น พบว่าเข้าใจผิดกันบ่อยและต้องอธิบายกันยาว เพราะ ความดันต่ำนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นความผิดปกติของแรงดันโลหิตที่มีค่าต่ำกว่าปกติ ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น บาดเจ็บรุนแรงจนเสียเลือดมาก เสียน้ำและเกลือแร่มาก โลหิตเป็นพิษ หัวใจล้มเหลว หรือระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ เป็นต้น

          บางกรณีก็พบในคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง แล้วได้รับยาลดความดันโลหิต จนทำให้ความดันลดต่ำลง ซึ่งอาจมีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่าเป็นนั่งหรือยืน แต่ก็จะมีอาการอยู่เพียงชั่วครู่เท่านั้น

          การรักษาความดันโลหิตต่ำจริง ๆ นั้น จะใช้ยาเพิ่มความดันชนิดฉีดในกรณีฉุกเฉินและทำในโรงพยาบาล ดังนั้นคนไข้ที่ไปซื้อยาเพิ่มความดันมากิน อาจเป็นเหยื่อของการโฆษณาสรรพคุณยาที่เกินจริง มี หลายคนไปหาหมอบ่อยๆ ด้วยอาการหน้ามืดตาลาย เวียนหัว มึนหัว ซึ่งเข้าข่ายอาการผิดปกติเล็กน้อยของระบบประสาททรงตัว ประกอบกับความวิตก กังวล ถ้าไปเจอหมอบางคนที่ขี้เกียจอธิบายมาก อาจจะบอกว่าเป็น "โรคความดันต่ำ" หรือที่หนักไปกว่านั้นคือบอกว่า "เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ" ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน

          คนไข้บางคนยังดูแข็งแรง อยู่ในวัยหนุ่มสาว เอะอะอะไรก็ "เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ" เสีย แล้ว ถ้าเป็นคนแก่ก็ว่าไปอย่าง แต่ถึงแม้เป็นคนแก่ ก็ต้องมีเหตุผลสนับสนุนและบ่งว่าสมองผิดปกติ เช่น พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก ชา ชัก หรือเป็นอัมพาต ไม่ใช่แค่อาการ มึนงง เวียนศีรษะ ก็หาว่าความดันต่ำหรือเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อย่างนี้ผู้เขียนเคยใช้คำว่า "โรคมั่ว" มาแล้ว

          การ พิจารณาค่าความดันโลหิตและการรักษานั้น ควรดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น สภาพร่างกายและจิตใจ การวัดหลายๆ ครั้งในสภาวะที่ผ่อนคลาย รวมทั้งพิจารณาอาการพื้นฐานของร่างกาย และความเจ็บป่วยประกอบกับตัวเลข ส่วนคนไข้ก็อย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุ ควรพิสูจน์ให้แน่นอนโดยมีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอว่า เป็นความดันสูงหรือ ความดันต่ำจริงๆ

          อย่าให้ต้องใช้คำว่า "โรคมั่ว" บ่อย ๆ เลยครับ


http://health.kapook.com/view9866.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก