สเต็นท์ รักษา หลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหัวใจ

สเต็นท์ โครงลวด ค้ำยัน หลอดเลือดหัวใจตีบ (เดลินิวส์)
นวพรรษ บุญชาญ : สัมภาษณ์

          ถ้าเอ่ยถึง "สเต็นท์" หลายท่านอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าครอบครัวไหนที่คนในบ้านเป็น "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ" ก็คงคุ้นชื่อเป็นอย่างดี วันนี้ผู้เขียนถือโอกาสไปพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่ออธิบายเรื่อง "สเต็นท์" ให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

          รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า "สเต็นท์" คือ โครงลวด เหมือนโครงลวดเล็ก ๆ อยู่ในไส้ปากกา จุดประสงค์คือ เอาไว้ค้ำยันไม่ให้หลอดเลือดหัวใจกลับมาตีบซ้ำ

          หลอดเลือดหัวใจที่ตีบ คือ หลอดเลือดโคโรน่ารี่ พบความพิการเกิดขึ้นได้บ่อย ถ้าตีบก็จะตีบเยอะ บางคนตีบทั้ง 3 หลอดเลือดหรือท่อเมน บางคนอาจตีบท่อเดียวแต่ตีบหลายจุด พยาธิสภาพในแต่คนไม่เหมือนกัน

          อายุที่พบหลอดเลือดหัวใจตีบมาก คือ ผู้ชายหลังอายุ 40 ปี ผู้หญิงหลังอายุ 50 ปี พออายุมากขึ้นโอกาสจะเป็นโรคนี้ก็มากขึ้น

          อาการ คนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบ มี 2 อย่าง คือ แน่นหน้าอกฉับพลันทันที ภาษาอังกฤษ เรียกว่า "ฮาร์ท แอทแท็ค" คือ กล้ามเนื้อหัวใจวาย เพราะมีก้อนเลือดไปอุดตัน  อีกกลุ่มจะมีอาการ ค่อย ๆ ตีบมากขึ้น จะมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกกำลังกาย อาการส่วนใหญ่ คือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก

          ปกติการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและดูอาการก็พอรู้ การเดินสายพานจะเป็นการยืนยันว่าน่าจะเป็นจริง เช่น ถ้าเดินสายพานนาทีเดียวแน่นหน้าอกแสดงว่าโรคเป็นเยอะ แต่ถ้าเดินสายพาน 6-7 นาทีค่อยมีอาการ  ก็แสดงว่า โรคเป็นน้อยโอกาสที่จะรักษาทางยายังพอไหว

          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การรักษาหลัก ๆ คือ การรักษาทางยา การขยายหลอดเลือด หรือ ทำบอลลูน และการทำบายพาส การ ขยายหลอดเลือดหัวใจเริ่มมาตั้งปี พ.ศ. 2520 เริ่มต้นด้วยการใส่ลูกโป่งขยายหลอดเลือด พอปี พ.ศ 2533 ปัญหาที่เจอจากการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง คือ เส้นเลือดฉีก ปริ ขาด แตก ทำให้ต้องไปผ่าตัดต่อเส้นเลือดฉุกเฉิน ส่วนหนึ่งที่ขยายไปแล้ว แม้ไม่ฉีก ปริ ขาด แต่ก็อาจเกิดแผลเป็นในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำ ใน 100 คนที่ได้รับการขยายหลอดเลือดจะมีประมาณ 20 คนที่กลับมาตีบใหม่ มี 2 คนที่ปริ ฉีก ขาด ต้องไปผ่าตัดต่อเส้นเลือดฉุกเฉิน

          เมื่อต้นปี พ.ศ.2533 จึงมีคนคิดว่าจะใส่โครงลวดเพื่อค้ำยันหลอดเลือดหัวใจตีบเอาไว้ ไม่ให้ตีบ ฉีก และไม่ให้เกิดแผลเป็นจนกลับมาตีบซ้ำ โครงลวดทำจาก "สเตน เลสสตีล" ก็เหมือนเป็นเส้นเลือดเสริมใยเหล็ก ไม่ถูกย่อยสลาย แก้ไขปัญหาเส้นเลือดฉีก ปริ ขาด และช่วยค้ำยันแผล เป็นไม่ให้กลับมาตีบซ้ำ จากร้อยละ 20 ก็เหลือประมาณ ร้อยละ 10
  
          การใช้สเต็นท์รักษาคนไข้ที่หลอดเลือดหัวใจตีบช่วงสั้น ๆ ใหญ่ ๆ ได้ผลดี แต่ปัญหา คือ ทางเดินตีบยาวและเส้นเลือดเล็ก โอกาสจะตีบใหม่ก็มีสูง ดังนั้นก็เลยมีคนคิดการเคลือบยาเพื่อกดการสร้างแผลเป็นให้น้อยลง คือ นอกจากมีโครงเหล็กก็จะมียาเคลือบด้วย โดยยาที่เคลือบอยู่ จะค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมา ดังนั้นในปัจจุบันแพทย์มักใช้สเต็นท์ชนิดเคลือบยา เพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น และโอกาสจะกลับมาตีบซ้ำก็น้อยลง
  
สเต็นท์ stent

          เมื่อมีการใช้สเต็นท์มาก ๆ การรักษาคนไข้ก็เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไข้ก็ไม่อยากผ่าตัด อีกทั้งทำง่าย แพทย์มีความชำนาญมากขึ้น บางคนใช้  6-7 สเต็นท์ คิดว่าน่าจะเข้ามาทดแทนการผ่าตัดได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่าจะเข้ามาแทนการผ่าตัดหรือไม่
          
          สเต็นท์จะเข้ามาแทนในกลุ่มที่เป็น "ฮาร์ท แอทแท็ค" มีลิ่มเลือดอุดตัน สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงมา จาก 100 คน 30 คนอาจเสียชีวิต แต่ปัจจุบัน น้อยกว่า 10 คนที่เสียชีวิต ส่วนกลุ่มคนไข้ที่ค่อย ๆ ตีบ การใช้สเต็นท์ ก็ถูกนำมาใช้แทนเช่นกัน

          ก่อน จะใส่สเต็นท์ จะต้องฉีดสีดูก่อนพยาธิสภาพว่า หลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ตีบอย่างไร ขนาดกี่มิลลิเมตร ยาวแค่ไหน กี่เส้น มีคด ๆ งอ ๆ หรือมีหินปูนหรือไม่ จากนั้นจะคุยกับญาติอธิบายให้เข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยง

          การใส่สเต็นท์จะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. วิธีการ คือ เจาะเส้นเลือดใหญ่ทางขาหนีบ หรือเจาะเส้นเลือดที่ ข้อมือ ย้อนกลับไปที่หัวใจได้ จึงเรียกวิธีนี้ว่า "การสวนหัวใจ" ถ้าเจาะบริเวณขาคนไข้จะพักฟื้นประมาณ 6 ชม. ให้คนไข้นอนโรงพยาบาลประมาณ 1 วัน แต่ถ้าเจาะบริเวณแขน คนไข้สามารถลุกเดินได้เลย โดยแพทย์จะให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 8-12 ชม. เมื่อเทียบกับการผ่าตัด คนไข้นอนโรงพยาบาลสั้นลง เจ็บตัวน้อยลง และมีความปลอดภัยกว่า

          ผล แทรกซ้อนจากการใส่สเต็นท์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เลือดออก เส้นเลือดปริ ฉีกขาด บางรายอาจเกิดภาวะไตวาย จากการฉีดสี และอาจเสียชีวิตได้ในกรณีหลอดเลือดปริ ฉีกขาด ไม่ตอบสนองต่อการรักษา แต่โอกาสเสียชีวิตมีเพียง 1 ในหมื่นรายเท่านั้น



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://health.kapook.com/view6684.html