รู้จักโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน


โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (โรงพยาบาลพญาไท)โดย นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์

           กระดูกสันหลังประกอบด้วยข้อต่อต่าง ๆ เพื่อยึดกระดูกสันหลังแต่ละข้อเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยข้อต่อด้านข้างสองข้าง (facet joint) ด้านหน้าเป็นหมอนรองกระดูก และมีเส้นเอ็นยึดอยู่โดยรอบ เพื่อคงสภาพการเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้เอาไว้ เมื่อเกิดการใช้งานมาก ๆ หรือมีความเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ เส้นเอ็นต่าง ๆ รอบ ๆ กระดูกสันหลัง ก็จะทำให้การยึดเหนี่ยวของกระดูกสันหลังเสียไป ทำให้เกิดการเลื่อนหรือเคลื่อนของกระดูกสันหลังได้ ดังภาพ

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

          โรคกระดูกสันเคลื่อนพบได้มากในวัยกลางคนขึ้นไปจน ถึงวัยสูงอายุ อาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการปวดหลังบริเวณเอว ปวดเมื่อย ๆ มักจะปวดมากเวลานั่งนาน ๆ หรือเดินไกล ๆ เมื่อมีการเคลื่อนตัวของกระดูกมากขึ้น จนมีการกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นเช่น ปวดร้าวลงขา ขาชา อ่อนแรง ซึ่งอาการมักจะเป็นที่ขาทั้ง 2 ข้าง มากหรือน้อยขึ้นอยู่ความรุนแรงของการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลัง

          การรักษาในเบื้องต้นถ้าอาการไม่รุนแรง มีการเคลื่อนไม่มาก ยังไม่มีการกดทับเส้นประสาท ก็จะใช้การรักษาโดยทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายกล้ามเนื้อในท่าที่เหมาะสม ลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดทับต่อกระดูกสันหลัง รวมทั้งการกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเป็นครั้งคราว

          แต่ถ้ามีการเคลื่อนมากหรือมีอาการของการกดทับเส้นประสาทเกิดขึ้นแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยเหล็ก ไม่ให้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้นไปอีก                


โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

           จากภาพจะเห็นได้ว่าการผ่าตัดจำเป็นผ่าตัดใหญ่เนื่องจากต้องใส่เหล็กเข้าไปใน กระดูกสันหลัง แต่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังผ่านกล้อง ทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง

           โดยแทนที่จะมีแผลผ่าตัดยาวอยู่ตรงกลางแพทย์จะผ่าตัดบริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังทั้ง 2 ข้างด้วยแผลขนาดเล็ก ๆ

           แล้วจึงยึดกระดูกสันหลังผ่านช่องเล็ก ๆ โดยใช้กล้องช่วยในการผ่าตัด โดยจะทำแบบเดียวกันทั้ง 2 ข้าง

          ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ แผลผ่าตัดเล็ก มีการสูญเสียเลือดในระหว่างผ่าตัดน้อย โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องให้เลือดระหว่างผ่าตัด มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหลังน้อยกว่าการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ดังนั้นผู้ป่วยจะ ฟื้นตัวได้เร็ว และใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่นาน 



credit link  http://health.kapook.com/view25133.html
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก