ผอมก็เป็นเบาหวานได้


เบาหวาน

ผอมก็เป็นเบาหวานได้ (Momypedia)
โดย : โรส มารี   

ใครบอกว่าคนอ้วนเท่านั้น ถึงจะเป็นเบาหวาน !!

          เบาหวาน เป็นภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้เต็มที่ น้ำตาลที่มีอยู่จึงเข้าไปสู่กระแสเลือดในระดับสูงผิดปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมามากมาย
         
          เพราะ ฉะนั้นถ้ามีเหตุอะไรก็ตามที่ทำให้อินซูลินอยู่ในภาวะไม่สมดุล เช่น ตับอ่อนซึ่งผลิตอินซูลินทำงานไม่ดี ก็จะทำให้เราเป็นเบาหวานได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้วน

          ถ้าเราไม่ได้อ้วน แต่มีพ่อแม่หรือญาติโกโหติกาเป็นเบาหวาน หรือใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด เป็นประจำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีการสร้างน้ำตาลมากขึ้น หรือตอบสนองต่ออินซูลินไม่ดี

          หรือ เราอายุมากขึ้น ตับอ่อนทำงานไม่ดี ทำให้มีการสังเคราะห์อินซูลินได้น้อยลง หรือไปติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ที่มีผลต่อตับอ่อน รวมถึงตั้งครรภ์บ่อย ซึ่งร่างกายในช่วงนั้นมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด มีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน ...

          เหล่านี้ละค่ะที่ทำให้คนไม่อ้วน มีโอกาสเป็นเบาหวานได้เหมือนกัน

เบาหวานทำให้ผอม

          หรือบางทีคนที่เป็นเบาหวานก็ผอมลงได้ด้วยค่ะ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้คนเป็นเบาหวานผอมลง ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง

          อาการอื่นก็มี รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพราะเมื่อเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ไตก็จะกรองน้ำตาลออกมาทางปัสสาวะ เราจะปัสสาวะบ่อย และมาก เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตดึงเอาน้ำออกมาด้วย ทำให้คนเป็นเบาหวานรู้สึกหิวน้ำบ่อย

อาการข้างเคียงเพียบ !

          ถ้าปล่อยให้ร่างกายเผชิญกับเบาหวานนาน ๆ มันจะพานมีผลให้ระบบอื่น ๆ ในร่างกายพลอยเสื่อมไปด้วย

          อย่างแรกคือไต เพราะไตจะทำงานหนักในการขับน้ำตาลออกจากร่างกาย จะมีอาการบวม ซีด

          หลอดเลือดแดงตีบตัน เพราะ น้ำตาลไปจับตัวที่ผนังหลอดเลือด ทำให้มีอาการชาที่ขา ปวดกล้ามเนื้อขา มีแผลเรื้อรังที่เท้า ปวดปลายนิ้วเท้าในตอนกลางคืน เป็นโรคหัวใจ ความดันผิดปกติ เกิดอาการวิงเวียน

          ตาบอด เพราะปลายประสาทตาอักเสบ

          ติดเชื้อง่าย ทำให้เป็นกรวยไตอักเสบ เป็นแผลเรื้อรัง

          ฟังแล้วน่ากลัวใช่ไหมคะ ไม่เป็นไรค่ะ หากเราดูแลรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติในวันนี้ จะช่วยลดอาการแทรกซ้อนใน 5-10 ข้างหน้า


การตรวจวัดระดับน้ำตาลในร่างกาย

          การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ จะทำให้เรารู้สภาพร่างกายของเราเอง และดูแลควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไป เป็นขั้นแรกของการรักษาเบาหวานค่ะ

          ถ้า ตรวจวัดแล้ว มีระดับน้ำตาลในเลือด 140-200 มก.ต่อเลือด 100 มล.ถือว่าเป็นไม่มากค่ะ (ในคนปกติ จะมีค่า 60-120 มก.ต่อเลือด 100 มก.) อาจไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น

          ในรายที่มีระดับน้ำตาลสูงกว่านั้นจะมีอาการให้เห็น เช่น สังเกตได้ว่า ปัสสาวะบ่อยและออกมาครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก กินข้าวจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ฉี่มีมดขึ้น (ไม่เชื่อชิมดู...ฉี่จะหวาน เพราะน้ำตาลออกมาทางปัสสาวะ )

          ดังนั้น การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดถ้าพบว่ามีตัวเลขมีค่าสูงเท่าใด ก็แสดงว่าอาการของโรครุนแรงเท่านั้น

ต้องดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

          เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรัง ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเรื่อยไป ผู้ป่วยบางคนเข้าใจว่าหมอที่ตัวรักษาอยู่ไม่เก่ง ไม่หายขาดสักที จึงเปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง หรือบางคนอาจจะหันไปพึ่งยาหม้อ สมุนไพรแทน ซึ่งอาจจะมีสเตียรอยด์

          ทาง ที่ดีไม่ควรเปลี่ยนหมอที่ดูแลรักษา ตรวจวัดระดับน้ำตาลเป็นประจำ แล้วก็ต้องดูแลตัวเองในวิถีชีวิตประจำวันอย่างดีด้วย ขอแนะนำว่า...

          กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่เช่นนั้นอาจมีอาการใจสั่น วิงเวียน เพราะร่างกายขาดน้ำตาล

          ห้ามกินของหวานมาก ทั้งขนมและผลไม้ที่มีรสหวานจัด ใช้น้ำตาลเทียมแทน

          งดเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม เพราะมีน้ำตาลมาก
         
          งดบุหรี่ เพราะจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น

          หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม และอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น

          อย่ากินข้าวหรืออาหารประเภทแป้งมาก กินผักใบเขียวมาก ๆ

          ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหม

          พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด วิตกกังวล

          ตรวจวัดระดับน้ำตาลเดือนละครั้ง


          ...ถึงไม่หายขาด แต่ก็ทำให้อยู่ดีมีสุข ไม่ลุกลามไปโรคอื่น ๆ ได้ค่ะ
    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

http://health.kapook.com/view6670.html