แนะยาน้ำต้านไวรัสสำหรับเด็ก ห้ามผสมกับนม





แนะยาน้ำต้านไวรัสสำหรับเด็ก ห้ามผสมกับนม (ไทยรัฐ)

          สธ.เตรียมความพร้อมคลินิกจ่ายยาต้านไวรัส ไข้หวัด 2009 มั่นใจมีเพียงพอทุกที่ ห่วง ปชช. ไม่เข้าใจการใช้ยา แนะยาน้ำสำหรับเด็ก ห้ามผสมยากับนม ส่วนแคปซูลห้ามทิ้งไว้อุณหภูมิสูง 
          วานนี้ (3 สิงหาคม) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการติดตามมาตรการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในคลินิก เพื่อรักษาผู้ป่วย ไข้หวัด2009 ว่า คลินิกที่จะเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์นั้น จะมีเฉพาะคลินิกที่รักษาโรคทั่วไป ไม่รวมถึงคลินิกเฉพาะทาง ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชุมทำความเข้าใจแนวทางการให้ยาต้านไวรัสกับคลินิกที่เข้าร่วมโครงการให้ ชัดเจนก่อนจะดำเนินการจ่ายยาให้สำรองที่คลินิกแห่งละ 50 เม็ด ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยได้ 5 คน เพื่อให้ทุกแห่งปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง

          รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า แม้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการแต่ละแห่งจะมียาต้านไวรัสเพียงแห่งละ 5 ชุด แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมียาต้านไวรัสให้กับประชาชนที่ จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพราะเมื่อคลินิกจ่ายให้กับผู้ป่วยแล้ว สามารถเบิกคืนกับโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่ตั้งคลินิก เพื่อสำรองให้ครบจำนวนได้ตลอด

          นายมานิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ในการใช้จะต้องแบ่งคำนวณจากยาแคปซูลของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้เภสัชกรดูแลผสมยา และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่สามารถจ่ายยาให้เด็กในคลินิกได้ โดยเร่งรัดให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำสำหรับเด็กให้เร็วที่ สุดแล้ว หากสามารถผลิตได้เร็วก็จะยิ่งสะดวกสำหรับการรักษาผู้ป่วยเด็กมากขึ้นทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประเมินผลการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้แก่ ประชาชน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศเพื่อดูปริมาณการใช้ยา รวมทั้งติดตามอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายหลังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงยา ให้รวดเร็วขึ้นว่าลดลงหรือไม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 
          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า กรณียาโอเซลทามิเวียร์ที่รักษาผู้ป่วย ไข้หวัดใหญ่ 2009 กพย.เป็นห่วงเรื่องระบบติดตามการจ่ายยาที่ขณะนี้ได้กระจายยาในระดับคลินิก จะมีประสิทธิภาพเพียงใด ประชาชนไม่แห่ไปขอรับยาต้านไวรัสจนทำให้เกิดการดื้อยา จึงอยากให้ สธ. ส่งข้อมูลในการเรื่องการเก็บรักษาและรับประทานยาให้ประชาชนทราบ เพราะเป็นยาควบคุมพิเศษต้องจ่ายในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้จัดทำคำแนะนำสำหรับแพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่กลับไม่มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยในการใช้ยาดังกล่าว

          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวเพิ่มว่า ยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดน้ำ สำหรับเด็กจะต้องบรรจุในขวดแก้วสีชา และที่สำคัญยานี้ผสมอยู่ในน้ำเชื่อมอาจตกตะกอนได้ จึงจำเป็นต้องเขย่าขวดก่อนรินยาทุกครั้ง และผู้ปกครองไม่ควรนำยาดัง กล่าวผสมกับนมให้เด็กดื่ม เพราะยานี้จับกับแคลเซียมจะทำให้ตกตะกอนอยู่ก้นขวดนมยิ่งขึ้น เด็กจะได้ยาไม่ครบตาม ปริมาณที่ใช้ในการรักษา ทำให้ไม่หายได้



          ผู้จัดการ กพย. กล่าวอีกว่า ในการรับประทานยานั้นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ต้องรับประทานจนยาหมด หากไม่ทานตามนี้โอกาสในการดื้อยาสูงมาก เปรียบเทียบคล้ายกับการทานยาต้านไวรัสเอดส์เพราะเป็นยาต้านไวรัสเช่นกันที่ ต้องเข้มงวดมาก ซึ่งยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 โอเซลทามิเวียร์ หากกินไม่ครบหรือไม่ตรงเวลาตามข้อปฏิบัติก็ทำให้ดื้อยาและต้องเปลี่ยนสูตรยา ใหม่ที่มีราคาแพงมากมาใช้ นอกจากนี้ชนิดแคปซูลสำหรับผู้ใหญ่ก็ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส หรือก็บในตู้เย็นเหมือนยาน้ำ อย่าเผลอเรอทิ้งไว้จะทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพ

          นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เสนอให้ประกาศให้จ.ราชบุรี เป็นเขตภัยพิบัติที่มีการระบาด ไข้หวัด2009 หลังจากมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด รองจากกรุงเทพฯว่า ตนยังไม่ทราบข้อมูลว่าใครเป็นคนประกาศและเมื่อประกาศแล้วจะทำให้ประชาชนได้ รับประโยชน์เรื่องใดเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้โดยรวมทั้งประเทศยังไม่ถึงขั้นที่จะต้อง ประกาศเป็นภัยพิบัติ เนื่องจากบางจังหวัดยังมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก บางจังหวัดแม้มีผู้ป่วยจำนวนมากแต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต


http://health.kapook.com/view2197.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก