อย่าปล่อยให้ อัมพาต ถามหา

อัมพาต หลอดเลือดในสมอง

อย่าปล่อยให้  อัมพาต  ถามหา (ธรรมลีลา)

          ใน ปัจจุบันที่คนเรามีอายุยืนขึ้น เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่เรามีการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอและการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

          ใน ทางตรงกันข้าม ถ้าเราละเลยสิ่งเหล่านี้ เช่น นอนดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ และในบรรดาโรคต่าง ๆ เหล่านี้ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคหนึ่งที่ไม่เพียงมีผลต่อผู้ป่วยเอง แต่ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อญาติของผู้ป่วยด้วย ทั้งในแง่เวลา ค่ารักษาพยาบาลและการขาดรายได้ของญาติที่ต้องคอยพาผู้ป่วยมาหาแพทย์ ดังนั้นโรค อัมพาต จึงมีผลกระทบอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

อัมพาต คืออะไร

          อัมพาต (Stroke) เป็น คำที่ใช้เรียกอาการอ่อนแรงครึ่งซีกหรือแตกก็ของร่างกาย หรือ ครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ที่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือไขสันหลัง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบหรือแตกก็ได้

          องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

          "เป็น อาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันที ต่อการทำงานของสมองบางส่วน หรือทั้งหมด โดยที่อาการนั้นเป็นอยู่นาน 24 ชม. หรือทำให้สูญเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคของหลอดเลือดเท่านั้น"

          คำว่า " อัมพาต" เรามักจะหมายถึง อาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย

          ส่วนคำว่า " อัมพฤกษ์ " เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง โดยทั่วไปเรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีอาการชา หรือมีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็นที่ลดลง ก็เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งนั้น

          อาการจะต้องเกิดในทันทีทันใด เช่น ตื่นนอนเช้า ขณะกำลังทำงาน หรือกำลังทำกิจวัตรต่าง ๆ แล้วมีอาการชา หรืออ่อนแรงในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ ก็จะมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการเกิด อัมพาต อัมพฤกษ์ได้

อัมพาต พบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน

          จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาต จะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น

          อายุ 45-54 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1,000 ราย

          อายุ 56-64 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย

          อายุ 75-84 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50 ราย

          อายุมากกว่า 85 ปี พบ อัมพาตประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย

          นอก จากนี้ยังพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 45-64 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 65 ปีแล้ว โอกาสในการเกิด อัมพาต จะค่อนข้างเท่ากัน

อะไรเป็นสาเหตุของ อัมพาต

          จากการศึกษาพบว่า ความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบาหวาน สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด อัมพาต ทั้งสิ้น เช่น ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า เป็นต้น ดังนั้น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ทำอย่างไรจะป้องกัน อัมพาต ได้

          ดังได้กล่าวมาแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงล้วนสามารถป้องกันการเกิด อัมพาต ได้ การป้องกันในระยะยังไม่มี อัมพาต เป็นสิ่งที่แพทย์สามารถให้คำแนะนำได้

          ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว  จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตลอดจนการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะทำให้การควบคุมและการป้องกันแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

          สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรค อัมพาต อยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ

          ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้ามีไขมันโคเลสเตอรอลสูง ควรงดอาหารจำพวกไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึกหอยนางรม กุ้ง เป็นต้น

          แต่ถ้ามีไขมันไตรกรีเซอไรด์สูง ควรงดอาหารจำพวกแป้งดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ควรรับประทานยาและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ จะช่วยให้อาการเหล่านั้นดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้เกิด อัมพาต ซ้ำ

ผลที่เกิดกับผู้ป่วย อัมพาต

          ผู้ป่วยที่เป็น อัมพาต ในระยะแรกพบว่า จะมีอาการเลวลงได้ถึง 30%  ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ปอดบวม หรือชัก ก็ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นไปอีก ในช่วงเดือนแรกหลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตราตายถึง 40% โอกาสที่จะเป็น อัมพาต ซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิด อัมพาต พบได้ถึง 3-5% และ 10% ใน 1 ปี

          เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25%  ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30% ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา

            จะ เห็นได้ว่า โรคอัมพาต เป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องที่จะต้องดูและช่วยเหลือ ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัวและส่วนรวม การป้องกันโรคอัมพาตสามารถทำได้ โดยการคอยตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุข ช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://health.kapook.com/view5958.html