พบคนไทยอายุยืนขึ้น ตายด้วยมะเร็ง-อุบัติเหตุสูง






พบคนไทยอายุยืนขึ้นโรคอ้วนคุกคาม15ปีขึ้นไปมีถึง34% (ไทยโพสต์)

          รายงานสุขภาพคนไทยปี 54 อายุยืนขึ้น ชาย 69.5 ปี หญิง 76.3 ปี สอดคล้องอัตราการตายลดลง คนจนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น แต่การควบคุมโรคเรื้อรังยังน่าห่วง ช่องว่างรวย-จน ถ่างกว้างไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่แม่วัยรุ่นเพิ่มเกือบ 3 เท่า แถมอายุน้อยลง อยู่ที่ 10 - 14 ปี

          รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะบรรณาธิการหนังสือรายงานสุขภาพคนไทย 2554 กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย 2554 พบว่า แนวโน้มคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ผลจากการตรวจสุขภาพคนไทยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปมีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง 34.7% และ 32.1% ขณะที่สัดส่วนแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 5.6% ในปี 2501 เพิ่มเป็น 15.5% ในปี 2551 โดยเฉพาะกลุ่มแม่วัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี มีอัตราการคลอดบุตรเพิ่มมากขึ้น

          "ด้าน สุขภาพจิต พบว่า คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตและความสุขในการดำรงชีวิตสูงขึ้น เห็นได้จากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 8.6% ต่อประชากรแสนคน ลดเหลือ 5.7% ต่อประชากรแสนคน ด้านความมั่นคงของสังคมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจ คนไทยอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนรวยมีรายได้ 54 - 59% ของรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนจนมีรายได้รวมร้อยกว่า 5% กลุ่มคนรวยที่สุดจึงมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดถึง 11.3 เท่า" รศ.ดร.ชื่นฤทัยกล่าว

          ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการคาดการณ์ในปี 2554 คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เพศชายอยู่ที่ 69.5 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 76.3 ปี สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตของวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ต่อประชากรพันคน จาก 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 4.1% สาเหตุที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เพราะมีสุขภาพดีขึ้น เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและอุบัติเหตุยังมีอัตราสูง ต้องเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป

          นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สวรส. กล่าวว่า คนไทยมีรายจ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 3.5 - 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมและการเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า การที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับหนึ่ง โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงจาก 280,000 ครอบครัวในปี 2543 เหลือ 88,000 ครัวเรือนในปี 2551 และลดลงในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานลดลงมากที่สุด ขณะที่การวิเคราะห์คุณภาพและประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ พบว่า การรักษาโรคให้ผู้ป่วยในมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่การรักษาโรคเรื้อรังของผู้ป่วยนอกยังมีประสิทธิภาพการรักษาต่ำ

          ทั้ง นี้ ผู้ที่สนใจหนังสือรายงานสุขภาพคนไทยปี 2554 ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2441-0201-4 หรือดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ www.thaihealth.or.th


ขอขอบคุณข้อมูลจาก