รับมือโรคภูมิแพ้ที่มากับหน้าหนาว


หอบหืด ไซนัส โรคภูมิแพ้


รับมือโรคภูมิแพ้ที่มากับหน้าหนาว (Lisa)

          โรคหืด ภูมิแพ้อากาศ ไซนัสอักเสบและผื่นลมพิษ มักออกอาการได้ง่ายในฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้เป็นโรคหอบหืดควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง

          วันนี้มีคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับเรื่องอาการต่าง ๆ จากโรคภูมิแพ้ในหน้าหนาวมานำเสนอค่ะ

Q: โรคภูมิแพ้อะไรบ้างที่มักกำเริบในหน้าหนาว

          A: ในหน้าหนาวคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ แพ้อากาศกับหอบหืดอาจมีอาการกำเริบได้ เพราะมีตัวกระตุ้นที่สำคัญในหน้าหนาว นั่นคือการติดเชื้อไวรัสหวัดหรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ซึ่งก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้อากาศ หรือโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้แล้วส่งผล ให้หอบหืดกำเริบได้

Q: ควรป้องกันโรคหอบหืดในหน้าหนาวอย่างไรดี

          A: ในหน้าหนาว คนที่เป็นโรคหอบหืดจะกำเริบได้ง่าย ไม่สบายและเป็นหวัดง่าย เมื่ออากาศเย็นก็จะกระตุ้นให้หอบง่ายขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่เป็นหืดมากก็ต้องพ่นจมูก หรือรับประทานยาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันหืดกำเริบในหน้าหนาว และอย่าพยายามหยุดยาเอง เพราะผู้ที่เป็นโรคหืดเมื่อไม่มีอาการก็มักไม่ใช้ยา แต่ถ้ามียาที่ใช้ป้องกันอยู่แล้ว ก็ควรจะใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยมียา 2 ชนิด คือ ยาขยายหลอดลมเวลามีอาการกำเริบ

          หากแพทย์ให้ยามาป้องกันในคนไข้กลุ่มนี้ก็ต้องใช้ทุกวันสม่่ำเสมอ อย่าหยุดยาเอง แล้วก็ต้องพกยาขยายหลอดลมติดตัวด้วยเสมอ เพราะหากมีอาการกำเริบจะได้นำมาใช้ได้ทันที ที่สำคัญก็คือ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย เพราะผู้ที่เป็นโรคหืดจะติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าคนปกติ แล้วก็กำเริบรุนแรงกว่าคนปกติ ฉะนั้นในคนไข้โรคหืด แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะไข้หวัดใหญ่มักระบาดในหน้าหนาว

Q: ไม่มียารักษาให้โรคหอบหืดหายขาดใช่ไหม

          A: ขึ้นอยู่กับว่ารักษาเร็วหรือช้า ถ้าเป็นโรคหอบหืดตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วใช้ยารักษาเร็ว แล้วก็ไม่แพ้อะไรมากก็มีโอกาสหาย 80% แต่ถ้าเป็นตอนโตจะมีโอกาสหายค่อนข้างน้อย

Q: คนที่เป็นโรคหอบหืดแล้วใช้ยาสเตียรอยด์บ่อย ๆ จะมีผลข้างเคียงหรือไม่

          A: ยาที่ใช้กับหอบหืดคือ ยาพ่นและยากินซึ่งเป็นสเตียรอยด์ หากมีอาการกำเริบก็จะให้กินยาได้ไม่เกิน 5 วัน ห้ามกินต่อเนื่องยาวนาน ทีนี้คนที่เป็นโรคหอบหืดจะไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงต้องใช้ยาพ่นจมูกอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง ปกติจะมีสูตรการลดยา เช่น พ่นสม่ำเสมอเมื่อไม่มีอาการ 3 เดือน ก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนอาการต่ำสุดหนึ่งปี ไม่มีอาการก็หยุดยาได้ หรือหยุดยาได้เป็นพัก ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากเป็นน้อย ในผู้ใหญ่อาจต้องใช้ขนาดต่ำสุด

          ถ้าใช้สเตียรอยด์ขนาดต่ำ ๆ และพ่นถูกวิธีก็ไม่มีผลข้างเคียง อย่างเช่น เมื่อพ่นยาสเตียรอยด์ก็ให้คนไข้บ้วนปากทุกครั้ง เพื่อลดการสะสมของยา ถ้าใช้ขนาดยาตามที่แพทย์แนะนำก็ไม่มีผลข้างเคียง

Q: แล้วไซนัสอักเสบมักเกิดในฤดูไหน

          A: ไซนัสอักเสบมักออกอาการในหน้าหนาวได้ง่ายเช่นกัน เพราะคนที่เป็นไซนัสอักเสบ มักเป็นร่วมกับแพ้อากาศ หากคนแพ้อากาศแล้วเป็นหวัด ก็เป็นไซนัสอักเสบตามมาได้ แต่อาการของไซนัสก็คล้าย ๆ หวัด แต่เป็นหวัดที่ต่อเนื่องเป็นเวลาเกินสัปดาห์ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือไอเป็นสัปดาห์

Q: คนที่เป็นไซนัสควรดูแลสุขภาพอย่างไรในหน้าหนาว

          A: คนที่เป็นไซนัสมักเกี่ยวข้องกับการแพ้อากาศ ถ้ามีแพ้อากาศร่วมด้วยก็ต้องใช้ยา เพื่อไม่ให้แพ้อากาศกำเริบ ไม่ให้ไซนัสตามมา ไม่ควรไปในที่มีคนมาก ๆ เนื่องจากไซนัสเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่งซึ่งเชื้อไซนัสแพร่ทางลมหายใจ ฉะนั้น เด็กที่อยู่โรงเรียนหรืออนุบาลจะติดเชื้อไวรัสง่าย เพราะเพื่อนหายใจรดกัน จึงควรหลีกเลี่ยงในที่มีคนเยอะ ๆ หรือมีผ้าปิดปากจมูกเพื่อป้องกัน

          คือไซนัสเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งคล้าย ๆ เชื้อหวัด แต่เป็นหวัดที่รุนแรงและยาวนาน แต่พอหลังจากไวรัสก็จะกลายเป็นเชื้อแบคทีเรียตามมา หากเป็นเชื้อไวรัสจะหายเองได้ แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะไม่หายเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ไม่ควรซื้อกินเอง เพราะถ้าเป็นยาที่ไม่ตรงตัวก็จะไม่หายขาด เชื้อโรคจะดื้อยาได้ ที่สำคัญคือ คนที่เป็นไซนัสควรงดว่ายน้ำหนึ่งสัปดาห์

Q: แล้วคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศจะเป็นอย่างไร

          A: ภูมิแพ้อากาศมักออกอาการเมื่อเจออากาศเย็น ๆ ก็จะมีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก บางคนเข้าห้องแอร์ก็มีอาการได้ คล้าย ๆ จมูกไวต่อสิ่งกระตุ้น เจออากาศเย็น ๆ ก็มีอาการกำเริบได้ในบางคน แต่ละคนก็มีตัวกระตุ้นไม่เหมือนกัน โรคนี้รักษาค่อนข้างยาก ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย ถ้าเป็นน้อย นาน ๆ เป็นทีก็หายได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและปัจจัย

Q: ทำไมบางคนมักเกิดผื่นลมพิษในฤดูหนาว

          A: มีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่เกิดลมพิษได้ง่าย เมื่อโดนอากาศเย็นกระตุ้น คือผื่นลมพิษกระตุ้นได้ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก หรือบางคนเหงื่อออกก็กระตุ้นให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการทดสอบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น ถ้าจากภายใน คล้ายภูมิแพ้ตัวเอง เช่น โรค SLE ก็อาจมีอาการเริ่มต้นมาจากลมพิษ หรืออาจเป็นธัยรอยด์เป็นพิษบางชนิดก็มาด้วยลมพิษได้

          ส่วนกรณีที่เด็กเล็ก ๆ ที่มีลมพิษบ่อย ๆ ก็ต้องหาสาเหตุว่าแพ้อาหารหรือไม่ เพราะลมพิษในเด็กมักสัมพันธ์กับการแพ้อาหาร

Q: แล้วการออกกำลังกายจะช่วยให้โรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ไหมคะ

          A: อาจช่วยให้แข็งแรงขึ้น ไม่เป็นหวัด เพราะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักเป็นหวัดง่าย ติดหวัดง่าย การออกกำลังกายก็จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย แต่สำหรับโรคหอบหืด ถ้าเป็นไม่มาก การออกกำลังกายก็จะทำให้อาการหอบหืดดีขึ้น หรือแพ้อากาศไม่มากก็จะช่วยให้จมูกโล่ง ลดอาการภูมิแพ้กำเริบได้ แต่ถ้าเป็นมากแล้ว การออกกำลังกายก็ไม่ได้ช่วยอะไร

          หากเป็นโรคหอบหืดรุนแรง การออกกำลังกายก็จะกระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบได้ ก็ต้องใช้ยารักษาก่อนจึงจะออกกำลังได้ หรือคนที่เป็นโรคหอบหืดที่ถูกกระตุ้น จากการออกกำลังกายก็ต้องพ่นยาขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกายครึ่งชั่วโมง ก็จะป้องกันอาการหืดกำเริบได้

Tip : ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เป็นโรคหอบหืด

          ควรใช้ยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง

          พกยาขยายหลอดลมติดตัวไว้เสมอ เผื่อมีอาการกำเริบฉุกเฉิน เพราะถ้าพ่นยาไม่ทัน ก็ทำให้หลอดลมตีบจนเสียชีวิตได้

          ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หืดกำเริบ หลีกเลี่ยงสิ่งที่รู้ว่าแพ้ แต่ถ้าไม่เคยทดสอบก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่คนไทยแพ้บ่อย เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ควันบุหรี่ ฯลฯ พร้อมกับรักษาโรคที่ร่วมด้วย เช่น ถ้าเป็นโรคหอบหืดที่แพ้อากาศหรือไซนัสอักเสบก็ต้องรักษาโรคนั้น มิเช่นนั้นจะทำให้หอบหืดกำเริบ หรือในกรณีที่เป็นโรคกรดในกระเพาะไหลย้อน แพ้อากาศก็ทำให้หอบหืดกำเริบได้เช่นกัน

แบบทดสอบ คุณเป็นภูมิแพ้หรือเปล่า ตอบว่าใช่ หรือไม่ใช่ในข้อต่อไปนี้

          1. พ่อแม่หรือพี่น้องของคุณเป็นโรคภูมิแพ้
          2. คุณมักมีอาการแพ้เมื่อสวมใส่เครื่องประดับ
          3. หลังกินอาหาร คุณมักมีอาการคันในปาก
          4. คุณมักมีอาการคันตา น้ำมูกไหลหรือหายใจไม่ออกโดยไม่รู้สาเหตุ
          5. คุณมีอาการแพ้เครื่องสำอางคือ มีผิวแดง

          หากคุณตอบว่า "ใช่" หนึ่งข้อ คือข้อสงสัยว่าคุณจะเป็นภูมิแพ้ หากมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุอาการแพ้และรับการรักษา


www.kapook.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก