ศัตรูในคราบมิตรที่ชื่อว่า “เหล้า”

credit  เอมอร คชเสนี 15 กรกฎาคม 2554 11:17 น.
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
      
       วันเข้าพรรษาเวียนมาถึงอีก ครั้งหนึ่งแล้ว หลายคนใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เหล้า ในขณะที่อีกหลายคนยังคงมองไม่เห็นโทษของการดื่มเหล้า บางคนเห็นเหล้าเป็นเพื่อน อาศัยเหล้าแก้เหงา อาศัยความมึนเมากลบเกลื่อนความทุกข์ แต่ลืมไปว่าพอสร่างเมาก็ต้องกลับสู่ชีวิตจริง วันนี้จึงถือโอกาสวันเข้าพรรษามาบอกเล่าถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
      
       ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ระบุว่า เมื่อเราดื่มเหล้าเข้าไป แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งจะสามารถตรวจ พบแอลกอฮอล์ในเลือดได้ภายในเวลาเพียง 5 นาทีหลังจากเริ่มดื่ม ก่อนจะส่งต่อไปยังเซลล์ เนื้อเยื่อ ของเหลวทุกแห่งในร่างกาย และอวัยวะต่างๆ ภายในเวลา 10-30 นาที และส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ได้แก่
      
       - ช่องปากและลำคอ
       เกิดอาการระคายเคืองในช่องปากและลำคอ อย่างที่เรียกกันว่า เหล้าบาดคอนั่นเอง
      
       - ผิวหนังและหลอดเลือด
       หลอดเลือดจะขยายตัวเนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ทำให้หน้าแดง ตัวแดง แต่บางคนอาจมีอาการเส้นเลือดหดตัว ทำให้หน้าซีด ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิตมากกว่า
      
       - กระเพาะอาหาร
       โรคที่พบบ่อยในหมู่นักดื่ม คือ โรคกระเพาะ แอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นต่ำจะกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะและลำไส้ ขณะที่แอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นสูง จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน เมื่อดื่มจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นสีดำ อุจจาระดำ บางรายจะพบการฉีกขาดของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากการอาเจียนอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะอาเจียนมีเลือดปนออกมาบ่อยๆ อาจเสียเลือดมาก ต้องรักษาโดยผ่าตัดเย็บรอยฉีกขาดของเยื่อบุดังกล่าว

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       - หัวใจ
       หัวใจจะถูกกระตุ้นให้สูบฉีดโลหิตเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแปรปรวน เมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มหนาขึ้น เกิดโรคหัวใจโต มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด
      
       - เซลล์
       การไหลเวียนของเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายจะเร็วขึ้น เซลล์ทุกเซลล์จะทำงานไวขึ้นกว่าปกติจนเกินความจำเป็น ทำให้การทำงานของอวัยวะแปรปรวนไปจากปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ต่อมาฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดการทำงานของเซลล์ และทำลายเซลล์ไปในที่สุด
      
       - สมอง
       แอลกอฮอล์จะทำให้เซลล์สมองขยายตัว เกิดอาการที่เรียกว่า สมองบวม นานเข้าจะเกิดการสูญเสียของเหลวในเซลล์สมอง เซลล์สมองลีบเหี่ยว เสื่อม และตายลง จากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากสุรา จะพบภาวะเนื้อสมองลีบเหี่ยว มีสีซีดจาง เห็นได้อย่างชัดเจน
      
       - ตับ
       ตับเป็นอวัยวะที่ได้รับพิษจากแอลกอฮอล์มากที่สุด เซลล์ตับที่ถูกทำลายจะมีไขมันเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดการคั่งของไขมันในตับซึ่งนำไปสู่อาการตับอักเสบ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น เมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่ง จะมีการสร้างพังผืดขึ้นที่บริเวณนั้น ลักษณะคล้ายแผลเป็น ทำให้เนื้อตับที่เคยอ่อนนุ่มกลับแข็งตัวขึ้น เกิดอาการที่เรียกว่า “ตับแข็ง” ในที่สุด การสูญเสียเซลล์ตับเป็นการสูญเสียอย่างถาวร ไม่มีการสร้างขึ้นทดแทน ความรุนแรงของโรคตับแข็งจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อตับที่สูญเสียไป ยิ่งเนื้อตับถูกทำลายมากเท่าไร โอกาสที่จะเสียชีวิตก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
      
       - ระบบอวัยวะ
       แอลกอฮอล์ในเหล้าทำให้เกิดพิษต่อระบบสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบประสาทซึ่งทำให้ขาดการควบคุม ระบบสืบพันธุ์ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง ทำำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน อวัยวะต่างๆ เสื่อมเร็วขึ้น คนที่ดื่มจัดจึงแก่เร็ว
      
       นอกจากผลต่อร่างกายแล้ว แอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อระดับเชาว์ปัญญาและจิตประสาทอีกด้วย โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาและสมาคมป้องกันปัญหาจากสุราแห่งประเทศไทย หรือ สปส.ระบุถึงงานวิจัยที่ชี้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยัง น้อย คือในช่วงอายุ 20-29 ปี จะทำให้ผู้ดื่มมีระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิวต่ำลง เกิดเชาว์ปัญญาเสื่อมมากกว่ากลุ่มที่เริ่มดื่มในช่วงอายุอื่นๆ ปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดความเสื่อมของสติปัญญา ก็คือ ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีการดื่ม การมีพ่อแม่เป็นนักดื่ม และมีอาการทางจิต
      
       จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทางจิตในแต่ละประเทศ มีสาเหตุมาจากสุรา สารพิษที่เกิดจากการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกายจะทำลายสารเคมีในสมองที่ช่วย ให้คนเรารู้สึกสงบสุข คนติดเหล้าจึงมักมีจิตใจและอารมณ์อ่อนไหว ความอดทนต่อความเครียดหรือภาวะกดดันลดน้อยลง ขาดสมาธิ และทำให้บุคลิกภาพเสื่อมโทรม
      
       สมองส่วนนอก (Cortex) ของคนที่ติดเหล้าเรื้อรังจะฝ่อลีบ ทำให้เกิดอาการเสื่อมทางจิต โรคจิตจากการดื่มมีหลายอาการและมักจะรักษาให้หายขาดยาก ได้แก่ โรคประสาทหลอน โรคหวาดระแวง โรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคหวาดกลัวผิดปกติ ฯลฯ
      
       อาการทางจิตที่เห็นได้ชัดเจน คือ ภาวะตื่นกลัวที่เรียกว่า Panic Disorder ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ อาการผิดปกติของหัวใจ กระเพาะอาหาร และระบบประสาท
      
       แอลกอฮอล์ยังไปกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนที่ควบคุมความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ จนสามารถก่อพฤติกรรมรุนแรงที่สร้างความเดือดร้อนและอันตรายต่อตนเองและผู้ อื่นได้โดยง่าย
      
       ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการ ก็คือ การดื่มแล้วขับทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนพุ่งสูงขึ้น หน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัยและศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุถึงผลวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า แอลกอฮอล์ทำลายความสามารถในการขับขี่พาหนะในด้านต่างๆ ได้แก่ ทำให้ประมาท ทำให้การมองเห็นแคบลง มัวลง เห็นภาพซ้อน ผู้ขับขี่จึงรับรู้ต่อความเคลื่อนไหวรอบตัวได้น้อยลง และยังทำให้การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อคับขันจึงอาจแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ และหักรถหลบหลีกได้ช้ากว่าปกติ อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นเสมอ
      
       ขณะที่งานวิจัยที่ว่าการดื่มเหล้าแต่พอประมาณ วันละ 1-2 แก้ว ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและทำให้อายุยืนขึ้น ก็ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยดังกล่าว โดยชี้ว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ และแม้ว่าการดื่มจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้จริง แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคตับ โรคมะเร็ง ฯลฯ
      
       ที่สำคัญ การดื่มแต่ “พอประมาณ” สำหรับนักดื่มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และพอประมาณสำหรับคนหนึ่ง อาจมากไปสำหรับอีกคนหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไปว่า แค่ไหนถึงจะกำลังดี
      
       ดังนั้น คำแนะนำก็คือ สำหรับคนที่ดื่มหนักอยู่แล้ว จะเป็นการดีหากลดการดื่มลงมาเหลือแค่วันละ 1-2 แก้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ดื่ม ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหันมาดื่ม เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและช่วย ให้อายุยืนได้
      
       สำหรับคนที่ยังมองไม่เห็นพิษภัยของสุรา คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ลด ละ เลิก เพราะจะอย่างไรเสีย บรรยากาศในวงเหล้าก็เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานหากเป็นไปในทางบวก หลายคนได้พบปะกระชับมิตร ได้แลกเปลี่ยนความคิดดีๆ ในวงเหล้า แต่ทุกสิ่งควรเป็นไปตามหลักทางสายกลาง หากดื่มหนักเกินไปก็ย่อมเกิดโทษดังที่ได้กล่าวแล้ว
      
       
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com
credit link http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000087179