บิด..โรคที่มากับอากาศร้อน



ปวดท้อง


บิด..โรคที่มากับหน้าร้อน (ไทยโพสต์)

          โรคบิด เป็นโรคประจำถิ่น มักพบในพื้นที่เขตร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยทั่วทุกภาค เนื่องจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญคือเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

          สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนปัญหาโรคบิดในช่วงฤดูร้อนคาบหน้าฝนนี้ว่า บิดเป็นหนึ่งในบรรดาโรคติดต่อจากอาหารและน้ำดื่ม แม้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทว่าอาการเจ็บป่วยก็สร้างความทุกข์ทรมานไม่น้อยเลยทีเดียว ลักษณะอาการคือ ปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายกับอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด ถ่ายออกมาเป็นมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบเบ่งร่วมด้วย

          โรคบิดสามารถติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งมักพบในอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ โดยมักแสดงอาการหลังการรับเชื้อโรคเพียง 10-100 ตัวเท่านั้น

          รายงานจากสำนักระบาดวิทยา ระบุว่า ปี พ.ศ. 2553 มีคนไทยป่วยเป็นโรคบิดทั้งหมด 14,761 ราย หรือคิดเป็นอัตราส่วน 23.24 ต่อแสนประชากร แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต สัดส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคบิดตั้งแต่ปี 2546-2553 มีแนวโน้มลดน้อยลง โดยในปี 2546 มีอัตราป่วย 36.72 ต่อแสนประชากร ลดเหลือ 23.24 ต่อแสนประชากรในปี 2553

          จากการสำรวจข้อมูลแนวโน้มการป่วยด้วยโรคบิดในแต่ละเดือน ในปี 2553 พบว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม -สิงหาคม เป็นช่วงที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงมาก และจะลดลงเรื่อย ๆ จนมีอัตราป่วยต่ำที่สุดในรอบปี คือเดือนธันวาคมของทุกปี

          ส่วนภูมิภาคที่พบการกระจายของโรคบิดมากที่สุดในปี 2553 คือ ภาคเหนือ มีอัตราป่วย 56.57 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วย 23.21 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ มีอัตราป่วย 11.77 ต่อแสนประชากร และภาคกลาง มีอัตราป่วย 9.68 ต่อแสนประชากร เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดและน้อยที่สุด พบว่า ภาคเหนือมีสัดส่วนผู้ป่วยมากกว่าภาคกลางถึง 6 เท่า

          สรุปว่า บิดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและมีการแพร่ระบาดในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ปัจจัยสำคัญมาจากอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขอนามัยและมีการปนเปื้อนเชื้อ โรค วิธีช่วยให้ห่างไกลจากโรคบิดคือ บริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำคลองและน้ำดิบ และที่สำคัญ ควบคุมดูแลการกระจายที่มาของเชื้อโรคคือ อุจจาระ โดยการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

credit link http://health.kapook.com/view26995.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก