รู้หรือไม่: ปวดส้นเท้า


ปวดส้นเท้า

รู้หรือไม่: ปวดส้นเท้า (สสส.)

          อาการปวดส้นเท้า เกิดจากอะไร วันนี้มีคำตอบค่ะ

          อาการปวดส้นเท้าพบบ่อยในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีอาการปวดบวมที่ส้นเท้า และอาจลามขึ้นไปที่น่อง ทำให้ต้องเดินกะโผลกกะเผลก สำหรับผู้ที่มีอาการปวดส้นเท้าเรื้อรัง มักจะพบกระดูกงอกในส้นเท้าด้วย อาการปวดส้นเท้าจะเป็นหนักขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพายุเข้าหรือฝนตก เวลาตื่นนอนหรือลุกจากที่นั่งใหม่ ๆ และอาการอาจทุเลาลงบ้าง เมื่อมีการเดินไปเดินมาสักพัก

          สาเหตุของอาการปวดส้นเท้ามีด้วยกันหลายอย่าง เช่น น้ำหนักเกิน เดินมาก ๆ หรือยืนนาน ๆ เป็นประจำ ได้รับบาดเจ็บที่ส้นเท้า เบาหวานหรือเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุ เป็นต้น อาการ ปวดส้นเท้าจัดเป็นการอักเสบเฉพาะที่ ซึ่งมิได้เกิดจากการติดเชื้อแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดลมบริเวณส้นเท้า มีการติดขัดและสะดุด ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก จึงเกิดอาการปวดขึ้นมา ดังเช่นหลักการวินิจฉัยและรักษาอันสำคัญของการแพทย์จีน "ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด"

          การเดินในกิจวัตรประจำวันก็จะทำให้ส้นเท้าอักเสบมากขึ้น และเรื้อรังเป็นเวลานาน หากไม่มีการรักษาอย่างถูกวิธี อาการอักเสบนี้ก็จะไประคายข้อต่อและเยื่อหุ้มกระดูกในส้นเท้า ทำให้ส้นเท้าเกิดกระดูกงอกขึ้นมาได้ ดังนั้น กระดูกงอกในส้นเท้าจึงมิได้เป็นสาเหตุของอาการปวดส้นเท้า หากเป็นผลที่เกิดจากการอักเสบของส้นเท้าต่างหาก

          สำหรับ อาการปวดส้นเท้า การแพทย์จีนนิยมใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการขจัดพิษร้อน ที่สะสมอยู่ในส้นเท้า ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้การไหลเวียนของเลือดลมในบริเวณนี้สะดุด และติดขัดจนเกิดอาการปวด เพื่อลดอาการอักเสบของส้นเท้า ส่วนสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการฟื้นฟู และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า ก็มีบทบาทสำคัญในการรักษาอาการปวดส้นเท้าเช่นกัน

          แต่สำหรับผู้ที่ปวดส้นเท้าแบบจี๊ด ๆ พร้อมมีอาการหายใจไม่สะดวก ปวด แน่น จุกเสียดหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย ขึ้นบันไดชั้นสองชั้นหรือทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยหรือลิ้นสีม่วงแดงนั้น ผู้ป่วยควรตระหนักว่าเลือดลมในร่างกาย ไม่ได้ติดขัดและสะดุดเฉพาะที่บริเวณส้นเท้าเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลาย ๆ จุดเกิดการติดขัดและสะดุดจนเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก โดยเฉพาะบริเวณหัวใจ จึงควรรักษาอาการปวดส้นเท้า ควบคู่กับการทำความสะอาดหลอดเลือดทั่วทั้งร่างกาย

          ส่วนผู้ป่วยปวดส้นเท้าที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ตาลาย แขนขาอ่อนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขี้หลงขี้ลืม ขี้หนาว ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ แสดงว่าไตของผู้ป่วยนั้นอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จึงควรทำการบำรุงไตไปพร้อม ๆ กัน

          อาการปวดส้นเท้าก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด


http://health.kapook.com/view8963.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก